16 October 2009

การใช้สิทธิทางศาลของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


            ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นับถึงปัจจุบันประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลากว่า ๗๐ ปี ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง ๑๗ ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๘ หากพิจารณารัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างสูง เห็นได้จากการบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้อย่างชัดเจน โดยมีเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลได้หลายช่องทาง ดังนี้

๑. การใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวด ๓ เรื่องสิทธิและเสรีภาพ (มาตรา ๒๘)
เป็นการประกันสิทธิการใช้สิทธิทางศาลในกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยถูกล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ซึ่งสืบเนื่องจากการปรับปรุงหลักการของหมวดสิทธิเสรีภาพ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เคยกำหนดให้การใช้สิทธิเสรีภาพต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบัญญัติขึ้นเสียก่อน จึงตัดข้อความเดิมที่เคยบัญญัติไว้ว่า "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ในมาตราต่างๆ ออก ดังนั้น จึงต้องกำหนดให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพได้โดยตรงแม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่หากการใช้สิทธิเสรีภาพเรื่องใด มีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดไว้แล้วก็ให้เป็นไปตามกฏหมายนั้น ดังนั้น หากรัฐไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ประชาชนก็มีสิทธิฟ้องศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามสิทธิเสรีภาพนั้นๆ ได้

๒. การฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดในการกระทำละเมิด กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการหรือละเว้นการกระทำการ (มาตรา ๖๐)
มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ โดยกำหนดให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการกระทำ หรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ มีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยภาระการพิสูจน์ไม่ได้ตกอยู่กับประชาชน กล่าวคือ เพียงแค่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ อันทำให้ประชาชนผู้นั้นได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องต่อศาลได้ เช่น กรณีรัฐปล่อยให้ถนนหลวงชำรุดเสียหายแล้วประชาชนผู้ใช้ถนนได้รับอุบัติเหตุหรือรถชำรุด ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการนั้นสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ในการดูแลรักษาถนนหนทางให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หลักการนี้เคยมีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เพียงแต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตัดคำว่า "ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ" เพื่อให้สามารถใช้สิทธิได้ทันที

๓. การฟ้องหน่วยงานรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน (มาตรา ๖๗)
รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้บุคคลได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะเข้าร่วมกับรัฐหรือชุมชน ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา การได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ หรือในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน โดยชุมชนมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนได้

๔. การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ (มาตรา ๒๑๒)
หลักการนี้ปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คดีขึ้นสู่ศาลมากเกินไปจึงมีการกำหนดให้การเสนอคดีจะทำได้เฉพาะกรณีที่ไม่อาจใช้วิธีการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องไว้ ดังนี้

๔.๑ หลักเกณฑ์การยื่นคำร้อง
(๑) ต้องเป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ กล่าวคือ ผู้ยื่นคำร้องต้องเป็น
ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ
(๒) ต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในหมวด ๓ ของรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย (มาตรา ๓๒) เสรีภาพในเคหสถาน (มาตรา ๓๓) เสรีภาพในการเดินทาง (มาตรา ๓๔) เสรีภาพในการสื่อสาร (มาตรา๓๖) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม (มาตรา ๓๘ และมาตรา ๔๐) สิทธิในทรัพย์สิน (มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒) เป็นต้น
(๓) ต้องเป็นไปเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะขอให้ศาลวินิจฉัยเป็นไปในแนวทางอื่น เช่น ขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิด หรือขอให้ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่ได้
(๔) ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว กล่าวคือ ไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา ๒๑๑ ไม่สามารถใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๒๔๕ (๑) และไม่สามารถใช้สิทธิทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒)

๔.๒ การเขียนคำร้อง ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง
(๒) ระบุมาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง
(๓) ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
(๔) คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง
(๕) ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย
(๖) ระบุเหตุที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีประชาชนฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก แต่คำร้องส่วนใหญ่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้อง เช่น ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีคำขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยในเรื่องอื่นนอกเหนือจากขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือยังสามารถใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้ เป็นต้น ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไปได้

1 comment: