23 September 2017

การจำกัดสิทธิและการลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งในต่างประเทศ

การจำกัดสิทธิและการลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งในต่างประเทศ

ในประเทศที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่มักมีบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ไปเลือกตั้งโดยเฉพาะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในระดับประเทศ ทั้งนี้ การกำหนดโทษดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนไปทำหน้าที่ของตน ซึ่งบทลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
โดยสามารถจัดแบ่งประเภทการลงโทษได้ ดังนี้
๑. การขอให้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ไปเลือกตั้ง
การกำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งชี้แจงแสดงเหตุผลเป็นกระบวนการที่ปรากฏในเกือบทุกประเทศที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เช่น ในประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นในการไม่ไปใช้สิทธิก่อนที่จะมีการกำหนดบทลงโทษ ในขณะที่ประเทศเบลเยี่ยม ลักแซมเบิร์ก และประเทศลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับให้ต้องแสดงเหตุผลที่ไม่ได้ไปทำหน้าที่ลงคะแนนเสียง แต่ขึ้นอยู่กับผู้ไม่ไปเลือกตั้งเองว่าจะชี้แจงหรือไม่ ซึ่งการชี้แจงดังกล่าวหากมีน้ำหนักมากเพียงพอผู้ไม่ไปเลือกตั้งอาจไม่ถูกลงโทษ
๒. การประกาศต่อสาธารณะ
ในบางประเทศอาจมีการติดประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปเลือกตั้งในที่สาธารณะ เช่น
ศาลาว่าการของเมือง เพื่อให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งเกิดความอับอาย การลงโทษรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นใน
ประเทศอิตาลีก่อนถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. ๑๙๙๓
๓. โทษปรับ
โทษปรับเป็นโทษที่นิยมมากที่สุดในการลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้ง โดยจำนวนค่าปรับ
ในแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป เช่น ๑ เรียล – ๔ เรียล (ประมาณ ๑๐ – ๔๐ บาท) ในประเทศบราซิล ๒๐ ดอลลาร์ในประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ ๕๐๐ บาท) โทษปรับมากกว่า ๑๐๐ ยูโร (ประมาณ ๔,๐๐๐ บาท) ในประเทศลักแซมเบิร์ก นอกจากนี้ ในบางประเทศยังกำหนดให้มีการเพิ่มโทษในกรณีที่มีการกระทำผิดซ้ำ เช่น ในประเทศเบลเยียมกำหนดโทษปรับ ๒๕ – ๕๐ ยูโร (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ บาท) สำหรับการไม่ไปเลือกตั้งครั้งแรก แต่หากไม่ไปเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อมาอีกค่าปรับจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๕๐ – ๑๒๐ ยูโร (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๔,๘๐๐ บาท)
๔. การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและสิทธิอื่นๆ
ในหลายประเทศกำหนดบทลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งโดยการจำกัดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เช่น ในเบลเยียมกำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้ง ๔ ครั้งในรอบ ๑๕ ปี จะถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งเป็นเวลา ๑๐ ปี หรือในประเทศสิงคโปร์ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ แต่หากผู้ถูกเพิกถอนชื่อแสดงเหตุผลในการไม่ไปเลือกตั้งและเหตุผลดังกล่าวรับฟังได้ หรือยอมชำระค่าธรรมเนียม จำนวน ๕๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ ๕๐๐ บาท) เจ้าหน้าที่ก็จะนำชื่อของบุคคลดังกล่าวกลับมาใส่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ในหลายประเทศ เช่น ประเทศอาร์เจนติน่า โบลิเวีย บราซิล สิงคโปร ที่กำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิในการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย
๕. การห้ามรับราชการหรือเป็นพนักงานของรัฐ
ในบางประเทศผู้ไม่ไปเลือกตั้งอาจถูกระงับสิทธิในการสมัครเข้ารับราชการหรือเป็นพนักงานของรัฐ เช่น ประเทศเบลเยี่ยมกำหนดให้ผู้ที่ไม่ไปเลือกตั้งไม่สามารถสมัครเข้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐได้ รวมทั้งจะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหากเป็นข้าราชการอยู่แล้วและไม่อาจได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากรัฐได้ ในประเทศอาร์เจนติน่ากำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะต้องเสียสิทธิในการสมัครงานกับภาครัฐเป็นเวลา ๓ ปี สำหรับประเทศโบลิเวียผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้รับ “ใบรับรองการเลือกตั้ง” (Suffrage certificate) ซึ่งใบรับรองดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ในการสมัครงานกับภาครัฐ รวมถึงการรับเงินเดือนจากรัฐ และการทำธุรกรรมทางการเงินด้วย
๖. การเสียสิทธิในการบริการสาธารณะบางประการ
สำหรับผู้ไม่ไปเลือกตั้งในประเทศโบลิเวียจะถูกจำกัดสิทธิในการขอหนังสือเดินทางเป็นเวลา ๙๐ วัน ในประเทศบราซิล ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิในการกู้ยืมเงินจากรัฐหรือจากสถาบันการเงินที่บริหารงานโดยรัฐ สิทธิในการทำหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน และสิทธิในการต่อใบอนุญาตครูในสถานศึกษาของรัฐหรือสถานศึกษาที่ควบคุมโดยรัฐ
๗. การจำคุก
การจำคุกผู้ไม่ไปเลือกตั้งเป็นการลงโทษที่ปรากฏน้อยมาก แต่ในประเทศออสเตรเลียหากผู้ไม่ไปเลือกตั้งไม่ยอมชำระค่าปรับจากการไม่ไปลงคะแนนเสียงอาจถูกลงโทษจำคุกฐานไม่เสียค่าปรับได้ ซึ่งการจำคุกดังกล่าวเคยเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ ที่มีผู้ไม่ไปเลือกตั้งถูกจำคุกเป็นเวลา ๑ ถึง ๒ วัน