16 February 2011

ระบบข้อมูลคนหายและศพนิรนาม
National Missing and Unidentified Persons System (NamUs)


ปัจจุบันประเทศไทยก็มีแนวความคิดในการจัดตั้งศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลคนหายและศพนิรนามขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลคนหายและศพนิรนาม อันจะทำให้การติดตามคนหายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวจึงได้ศึกษาระบบ NamUs ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลคนหายและศพนิรนามของประเทศ ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าสืบค้นข้อมูลได้ รายละเอียดขอกล่าวถึงเป็นส่วนๆ ดังนี้

๑. NamUs คืออะไร

NamUs ย่อมาจาก National Missing and Unidentified Persons System ซึ่งหมายถึงระบบข้อมูลคนหายและศพนิรนามแห่งชาติ เป็นระบบที่เป็นศูนย์รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลคนหายและศพนิรนาม ระบบนี้เป็นระบบออนไลน์ที่เปิดให้แพทย์สอบสวน (medical examiner) หรือเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (coroner) เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้ ระบบนี้ประกอบด้วยข้อมูลสองส่วน ได้แก่
๑.๑ ข้อมูลคนหาย (The Missing Persons Database) ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับคนหายซึ่งใครก็ตามสามารถแจ้งข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบได้ โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกตรวจสอบก่อนที่จะเผยแพร่ลงในระบบ ระบบนี้เปิดโอกาสให้สามารถพิมพ์โปสเตอร์คนหาย (เพื่อติดประกาศหรือแจ้งทางอีเมล์) และระบุรายละเอียดและตรวจสอบแผนที่การเดินทางที่เป็นไปได้ในการตามหาผู้สูญหายด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “geo-mapping” นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลภาครัฐ แพทย์สอบสวน (Medical examiner) เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (Coroner) หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย กลุ่มผู้คอยให้ความช่วยเหลือเหยื่อ และฐานข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

๑.๒ ข้อมูลศพนิรนาม (The Unidentified Persons Database) ประกอบด้วยข้อมูลที่ได้รับจากแพทย์สอบสวน (Medical examiner) หรือเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (Coroner) โดยทุกคนสามารถเข้าระบบฐานข้อมูลนี้โดยสามารถใช้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะ เช่น เพศ เชื้อชาติ ตำหนิในร่างกาย และข้อมูลเกี่ยวกับฟัน ในการค้นหาได้



๒. ความเป็นมาของ NamUs

สืบเนื่องจากปัญหาคนหายและศพนิรนามเป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นระยะเวลานาน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงมีการจัดตั้งโครงการ DNA Initiative โดยสำนักงานโครงการยุติธรรม (The Office of Justice Program หรือ OJP) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสถาบันการยุติธรรมแห่งชาติ (The National Institute of Justice หรือ NIJ) ได้เริ่มสนับสนุนเงินทุนเพื่อเพิ่มการใช้เทคโนโลยีด้านดีเอ็นเอในกระบวนการยุติธรรม และพัฒนาเครื่องมือในการสืบสวนและแก้ปัญหากรณีคนสูญหายและศพนิรนาม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ NIJ ได้จัดประชุม “Identifying the Missing Summit” โดยมีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งในระดับรัฐ มลรัฐ และท้องถิ่น แพทย์สอบสวน (Medical examiner) เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (Coroner) นักนิติวิทยาศาสตร์ ผู้วางนโยบายของรัฐ ทนายความและครอบครัวของเหยื่อจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อวางกลยุทธ์ร่วมกันที่เมืองฟิลาเดเฟีย ผลจากการประชุมครั้งนี้พบว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงการเข้าถึงฐานข้อมูลโดยประชาชนซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาคนหายและศพนิรนามได้ จึงมีการจัดตั้ง NamUs ขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว

สำหรับเป้าหมายของระบบนี้ คือ ระบบการรายงานและสืบค้นใน NamUs จะช่วยปรับปรุงปริมาณ คุณภาพ และการเข้าถึงข้อมูลคนหายและศพนิรนาม โดย NamUs เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แพทย์สอบสวน (Medical examiner) เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (Coroner) ทนายความของเหยื่อ ครอบครัวของผู้สูญหายมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย


๓. การดำเนินการของ NamUs

ด้านข้อมูลคนหาย บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งข้อมูลคนหายเข้าสู่ระบบโดยการลงทะเบียนเข้าใช้งานทางเว็บไซต์และกรอกข้อมูลของผู้สูญหายลงในแบบฟอร์ม ได้แก่ ชื่อและนามสกุล อายุ เพศ เชื้อชาติ ส่วนสูง น้ำหนัก เมือง รัฐ วันที่พบกับผู้สูญหายเป็นครั้งสุดท้าย สภาพแวดล้อม สีผม และสีตา นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ในการติดตามผู้สูญหาย ได้แก่ ข้อมูลดีเอ็นเอ ประวัติการทำฟัน และลายพิมพ์นิ้วมือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประกันคุณภาพของข้อมูล ข้อมูลทั้งหมดจะถูกตรวจสอบความถูกต้องโดย Case manager ก่อนจะเผยแพร่ลงในฐานข้อมูล

ส่วนข้อมูลศพนิรนามจะถูกจัดส่งมาจากแพทย์สอบสวน (Medical examiner) และเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (Coroner) ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ โดยประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น เช่น หมายเลขศพ วันที่พบ เป็นต้น ข้อมูลสถิติประชากร เช่น อายุ เชื้อชาติ เป็นต้น สภาพแวดล้อม รายละเอียดของร่างกาย เสื้อผ้า รายละเอียดเกี่ยวกับผมและตา รูปถ่าย (ถ้ามี) และรายงานการชันสูตรซึ่งผู้เข้าสืบค้นสามารถพิมพ์ออกมาได้ ส่วนผู้ลงทะเบียน สามารถสืบค้นข้อมูลการติดต่อประสานงานกับตำรวจและรายงานความคืบหน้าของคดีได้ด้วย โดยในการสืบค้นข้อมูล ผู้สืบค้นสามรถใช้รายละเอียดเฉพาะต่างๆ เช่น รายละเอียดทางด้านร่างกาย ฟัน ดีเอ็นเอ แผลเป็น รอยสัก เครื่องประดับ เสื้อผ้า กายอุปกรณ์เสริม เช่น แขนเทียม ขาเทียม รวมถึงระบบการเดินทางที่ใช้ เข้าสืบค้นได้

ทั้งนี้ เมื่อมีการป้อนข้อมูลคนหายเข้ามาใหม่ ระบบจะดำเนินการเปรียบเทียบเพื่อจับคู่กับข้อมูลศพนิรนามโดยอัตโนมัติ และเช่นเดียวกันหากมีการป้อนข้อมูลศพนิรนามเข้ามาใหม่ ระบบก็จะดำเนินการจับคู่กับฐานข้อมูลคนหายโดยอัตโนมัติด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ NamUs ยังใช้บริการตรวจดีเอ็นเอและบริการทางนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น บริการทางมานุษยวิทยา บริการทันตวิทยา โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย



๔. ข้อสังเกต

การดำเนินการของ NamUs มีลักษณะใกล้เคียงกับศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมแห่งชาติ (National Crime Information Center หรือ NCIC) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา เช่น ประวัติอาชญากร ผู้ลี้ภัย การลักทรัพย์ และบุคคลสูญหาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง NCIC และ NamUs ต่างก็มีฐานข้อมูลคนหาย แต่ NamUs เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าสืบค้นข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในขณะที่ NCIC เปิดให้เฉพาะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้