27 January 2010

การุณยฆาตกับความชอบด้วยกฎหมาย


           สืบเนื่องจากแนวคิดในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Death with dignity) ซึ่งมองว่าบุคคลควรมีสิทธิในการเลือกที่จะตายอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมานจากการมีเครื่องมือทางการแพทย์ติดอยู่กับตัวหรือการยื้อชีวิตอย่างไม่จำเป็น จึงมีผู้ป่วยจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศตะวันตกร้องขอให้หมอทำการุณยฆาตแก่ตน ซึ่งการทำการุณยฆาตยังเป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมาก ทั้งทางศาสนา การแพทย์ และกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ ในบทความนี้จึงขอกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการุณยฆาตโดยในเบื้องต้นจะอธิบายให้ทราบถึงความหมายและประเภทของการุณยฆาต ความชอบด้วยกฎหมายของการุณยฆาตในต่างประเทศ และในตอนท้ายจะเป็นการวิเคราะห์ว่าการทำการุณยฆาตถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไทยหรือไม่ อย่างไร

๑. ความหมายและประเภท

“การุณยฆาต” มาจากคำว่า “Euthanasia” ในภาษาอังกฤษซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า good death หมายถึง การให้ผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานจากโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ ได้ตายลงโดยไม่เจ็บปวดเพื่อให้พ้นความทุกข์ทรมานนั้น (แสวง บุญเฉลิมวิภาส, กฎหมายการแพทย์ (สำนักพิมพ์วิญญูชน : พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๖) หน้า ๑๗๕)โดย “การุณยฆาต” สามารถจำแนกได้เป็นหลายประเภท  ดังนี้

๑.๑ จำแนกตามการกระทำ แบ่งได้เป็นการุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia) ซึ่งเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังได้ตายอย่างสงบ เช่น การที่แพทย์ไม่สั่งการรักษาเพื่อยืดชีวิตของผู้ป่วย แต่ยังคงให้การดูแลรักษาทั่วไป (Palliative Care) เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมาน จนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตไปเอง และการุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังได้ตายอย่างสงบ เช่น การที่แพทย์ฉีดยา ให้ยา หรือกระทำด้วยวิธีการใดๆ ให้ผู้ป่วยตายโดยตรง (การตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของแพทย์) ทั้งนี้ การหยุดใช้เครื่องช่วยชีวิตก็ถือเป็นการุณยฆาตเชิงรุกเช่นกัน

๑.๒ จำแนกตามความสมัครใจ แบ่งได้เป็น Voluntary euthanasia คือ กรณีที่ผู้ป่วยแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นทำการุณยฆาตแก่ตนได้ และ Involuntary euthanasia คือ กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้แสดงเจตนาให้ทำการุณยฆาต แต่บุคคลอื่นตัดสินใจให้กระทำ
การุณยฆาตแก่บุคคลนั้น

๒. การทำการุณยฆาตในต่างประเทศ (ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง)

แม้ว่าการทำการุณยฆาตจะเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมของแพทย์ โดยแพทยสมาคมโลก (The Medical Association) ได้มีมติว่า การุณยฆาตและการช่วยฆ่าตัวตาย (Assisted suicide ) เป็นการขัดต่อจริยธรรมทางการแพทย์
แต่การทำตามเจตนาของผู้ป่วยในการปฏิเสธการรักษาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลไม่ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรม อย่างไรก็ตาม สำหรับ Active Euthanasia มีกฎหมายของหลายประเทศที่ยินยอมให้กระทำได้โดยไม่มีความผิด ได้แก่

ประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายในประเทศอเมริกากำหนดให้การฆ่าตัวตายและการช่วยผู้อื่นฆ่าตัวตายเป็นความผิด แต่ในมลรัฐโอเรกอนและมลรัฐวอชิงตันมีกฎหมาย The Death with Dignity Act กำหนดให้การช่วยผู้ป่วยฆ่าตัวตายไม่ถือเป็นความผิด แต่ถือเป็นการรักษาทางการแพทย์ (Medical Treatment) หากการกระทำดังกล่าวทำโดยแพทย์

ประเทศออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ มลรัฐทางเหนือ (Northern Territory) มีกฎหมาย Rights of the Terminally Ill (ROTI) Act รองรับให้แพทย์สามารถกระทำการุณยฆาตและช่วยเหลือผู้ป่วยในการฆ่าตัวตาย (Assisted suicide) ได้ โดยกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับในเดือนกรกฎาคม ๑๙๙๖ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๑๙๙๗ กฎหมายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลกลาง (Commonwealth Parliament) ทั้งนี้ ระหว่างที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับมีผู้ป่วย ๔ ราย ฆ่าตัวตายด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งโดยแพทย์

ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีกฎหมาย Termination of Life on Request and Assisted Suicide (Review Procedures) Act ซึ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้การทำการุณยฆาตและการช่วยเหลือผู้ป่วยในการฆ่าตัวตาย (Assisted suicide) ไม่ถูกลงโทษ หากเป็นการกระทำโดยแพทย์ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยกฎหมายนี้อนุญาตให้เด็กอายุ ๑๖ ถึง ๑๘ ปี ร้องขอให้จบชีวิตตัวเองได้โดยขอคำปรึกษาจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยบุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธิคัดค้าน ส่วนเด็กอายุ ๑๒ ถึง ๑๖ ปีนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ทั้งนี้ พบว่าสถิติการตายประมาณร้อยละ ๙.๑ ของการตายทั้งหมดต่อปีเกิดจากการุณยฆาต โดยมีผู้ป่วยจำนวน ๒,๓๐๐ ราย สมัครใจตาย ผู้ป่วยจำนวน ๔๐๐ ราย ตายโดยแพทย์ลงมือเอง และผู้ป่วยจำนวน ๑,๐๔๐ ราย ถูกทำการุณยฆาตโดยผู้ป่วยไม่มีส่วนรับรู้หรือให้ความยินยอม

ประเทศเบลเยี่ยม ออกกฎหมายเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๕ อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยที่บรรลุนิติภาวะสามารถทำการุณยฆาตได้ ต่อมาในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ มีกฎหมายรองรับให้เภสัชกรและแพทย์สามารถจำหน่ายและใช้อุปกรณ์การทำการุณยฆาตได้

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีความแตกต่างจากกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม กล่าวคือ ใน ๓ ประเทศดังกล่าวการทำการุณยฆาตและการช่วยเหลือผู้ป่วยในการฆ่าตัวตาย (Assisted suicide) ชอบด้วยกฎหมาย โดยกฎหมาย
ในประเทศเหล่านี้มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการรักษาทางการแพทย์ (Medical Treatment) ส่วนกฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังคงกำหนดให้การทำ
การุณยฆาตหรือการช่วยผู้ป่วยฆ่าตัวตายที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง (selfish motives) เป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษไม่ว่าจะทำโดยแพทย์หรือไม่ก็ตาม

ส่วน Passive Euthanasia มีหลายประเทศที่อนุญาตให้ทำได้โดยการทำหนังสือแสดงเจตนาโดยผู้ป่วยที่เรียกว่า Living will เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น โดยประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ทำ Passive Euthanasia ได้ด้วยการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

๔. การทำการุณยฆาตกับกฎหมายไทย

๔.๑ การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia)
ตามที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า Active Euthanasia เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ตายอย่าสงบ ซึ่งหากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว เห็นได้ว่า การที่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลทั่วไปช่วยให้ผู้ป่วยได้ตายอย่างสงบ ไม่ว่าจะกระทำโดยการฉีดยา ให้ยา หรือวิธีการอื่นใด หากการกระทำดังกล่าวเป็นผลโดยตรงต่อความตาย การทำ Active Euthanasia ดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา ๒๘๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ หากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อบุพการีมีระวางโทษที่หนักขึ้นตามมาตรา ๒๘๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยจะให้ความยินยอมให้ฆ่าตนเองได้ ไม่ว่าความยินยอมดังกล่าวจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาก็ตาม ความยินยอมดังกล่าวไม่เป็นเหตุยกเว้นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดอาญาเพราะเป็นความยินยอมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่เมื่อผู้ป่วยยินยอมก็ทำให้พ้นจากความรับผิดทางแพ่ง นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๒๕ และข้อบังคับแพทยสภาการรักษาจริยธรรมแห่งวิชชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๖ และ ๒๕๔๙ อีกด้วย

๔.๒ การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia)

การทำ Passive Euthanasia ซึ่งเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ตายอย่างสงบ โดยงดเว้นการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อยื้อชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีประเด็นทางกฎหมายหลายประเด็น ดังนี้

๔.๒.๑ กรณีที่ผู้ป่วยได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์ะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย

สืบเนื่องจากมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เปิดโอกาสให้บุคคลทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์ะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ โดยเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวแล้ว
มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารสุขเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองถึงบุคคลทั่วไปด้วย ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ญาติของผู้ป่วยปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยโดยการไม่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหรือปล่อยให้ผู้ป่วยตายโดยไม่รักษาก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวจึงอาจจะต้องรับผิด

๔.๒.๒ กรณีผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาพยาบาลไว้ ในเรื่องนี้มีความเห็นเป็นสองฝ่าย ดังนี้

ฝ่ายที่ ๑ มองว่า การกระทำในทางอาญาให้รวมถึงการให้ผลอันใดอันหนึ่งขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวเมื่อแพทย์เห็นว่าการรักษาไม่มีประโยชน์แล้ว การรักษาดังกล่าวไม่เข้าข่าย “การที่จักต้องกระทำ” จึงไม่ควรถือว่าการตายเป็นผลจากการกระทำของแพทย์ ดังนั้น การที่แพทย์ปล่อยให้ผู้ป่วยตายจึงไม่ถือเป็นการงดเว้นการกระทำ

ฝ่ายที่ ๒ มองว่า แพทย์มีหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลโดยทั่วไปอยู่ หากแพทย์ปล่อยให้ผู้ป่วยตาย การกระทำของแพทย์ถือเป็นการงดเว้นการกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย

๔.๓ การช่วยเหลือผู้ป่วยในการฆ่าตัวตาย (Assisted suicide)
กรณีช่วยเหลือเด็กอายุไม่เกิน ๑๖ ปีฆ่าตัวตายมีความผิดฐานช่วยหรือยุยงให้ฆ่าหรือพยายามฆ่าตนเองตามมาตรา ๒๙๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และผิดข้อบังคับแพทยสภา แต่กรณีบุคคลที่มีอายุมากกว่า ๑๖ ปีไม่เป็นการกระทำผิดอาญา แต่ผิดข้อบังคับแพทยสภา

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำการุณยฆาตอีกเป็นจำนวนมากที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น กรณีที่ผู้ป่วยได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขฯ แต่แพทย์ไม่ทราบถึงหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว จึงได้ใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อยืดการตายออกไป หากแพทย์ทราบถึงเจตนาดังกล่าวในภายหลัง แพทย์สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้หรือไม่ หรือกรณีที่ผู้ป่วยได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขฯ ไว้ ซึ่งแพทย์ก็ทราบถึงการแสดงเจตนาดังกล่าว หากแพทย์ผู้นั้นฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามโดยยังคงยื้อชีวิตของผู้ป่วยไว้ แพทย์ดังกล่าวจะมีความผิดหรือไม่ และญาติของผู้ป่วยมีสิทธิปฏิเสธค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลที่ฝ่าฝืนเจตนาของผู้ป่วยได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องหาข้อยุติต่อไป