20 October 2009

เค้าโครง

๑. กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมสาธารณะ
     ๑.๑ ประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะ
     ๑.๒ ประเทศที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะ
๒. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
     ๒.๑ ผู้รับผิดชอบในการชุมนุม
     ๒.๒ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการชุมนุม
๓. วิธีการและขั้นตอนในการชุมนุม
     ๓.๑ ประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
           ๓.๑.๑ ประเทศที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
           ๓.๑.๒ ประเทศที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
     ๓.๒ ประเทศที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะ
๔. ข้อจำกัดในการชุมนุม
     ๔.๑ เวลาในการชุมนุม
     ๔.๒ สถานที่ในการชุมนุม
๕. การควบคุมการชุมนุม
๖. บทลงโทษ
     ๖.๑ บทลงโทษผู้รับผิดชอบการชุมนุม
     ๖.๒ บทลงโทษผู้ขัดขวางเสรีภาพในการชุมนุม
     ๖.๓ บทลงโทษผู้เข้าร่วมชุมนุม
            ๖.๓.๑ ผู้เข้าร่วมชุมนุมก่อความไม่สงบ
            ๖.๓.๒ ผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
     ๖.๔ บทลงโทษผู้ยุยงส่งเสริมผู้เข้าร่วมการชุมนุมมิให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข
     ๖.๕ บทลงโทษผู้ปลุกระดมให้มีการชุมนุมก่อความไม่สงบโดยใช้อาวุธ

๑. กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมสาธารณะ

การชุมนุมสาธารณะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย กฎหมายทางหลวง เป็นต้น แต่หลักเกณฑ์วิธีการในการชุมนุมสาธารณะนั้น ประเทศส่วนใหญ่มักจะมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นโดยเฉพาะ ในขณะที่บางประเทศเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะเป็นเสรีภาพของประชาชนจึงไม่มีการบัญญัติกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นการเฉพาะ แต่ก็มีแนวคำพิพากษาเป็นแนวบรรทัดฐาน

๑.๑ ประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะ เป็นประเทศที่มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการชุมนุมสาธารณะไว้โดยเฉพาะ เช่น ประเทศอังกฤษมี Public order Act 1986 ประเทศฝรั่งเศสมี La loi du 30 juin 1881และ La loi du 28 mars 1907 เขตปกครองพิเศษฮ่องกงมี Hong Kong Public order Ordinance จีนมี Law of the People’s Republic of China on Assemblies, Processions and Demonstrations (31 October 1989) เป็นต้น

๑.๒ ประเทศที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญอเมริกัน รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบโดยห้ามมิให้รัฐสภาตรากฎหมายที่มีผลเป็นการลิดรอนการสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ดังนั้น การตรากฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมนั้นไม่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามการชุมนุมก่อนที่การชุมนุมจะเกิดขึ้นหรือการกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมโดยให้ผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมการชุมนุมต้องลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน การตรากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมจึงทำได้เฉพาะเพื่อจัดการกับการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Unlawful assembly) เท่านั้น ทั้งนี้ หลักกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกานั้น เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลสูง (Supreme Court) ในคดีต่างๆ

๒. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

๒.๑ ผู้รับผิดชอบในการชุมนุม
ในบางประเทศมีการกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการชุมนุม หน้าที่ของผู้รับผิดชอบการชุมนุม และบทลงโทษผู้นำการชุมนุมต่างหากจากผู้เข้าร่วมการชุมนุม เช่น ประเทศฝรั่งเศสกำหนดให้ผู้รับผิดชอบการชุมนุมเป็นกลุ่มบุคคล (un bureau) จำนวน ๓ คน มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของผู้ชุมนุม หากการชุมนุมไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยกำหนดให้ผู้รับผิดชอบการชุมนุมจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการชุมนุมนั้น และในประเทศจีนก็มีการกำหนดผู้รับผิดชอบการชุมนุม หน้าที่ และความรับผิดของผู้นำการชุมนุมไว้โดยเฉพาะเช่นกัน โดยมาตรา ๘ ของ Law of the People’s Republic of China on Assemblies, Processions and Demonstrations ได้กำหนดให้มีการแจ้งชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของผู้รับผิดชอบการชุมนุม และมาตรา ๒๕ ของกฎหมายดังกล่าวก็ได้กำหนดให้ผู้รับผิดชอบการชุมนุมต้องดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยหากการชุมนุมเรียกร้องไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ผู้รับผิดชอบการชุมนุมอาจถูกเตือนหรือขัง ๑๕ วัน (มาตรา ๒๘) และต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา ๑๕๘ แห่งกฎหมายอาญาด้วย (มาตรา ๒๙) ส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาในระหว่างการชุมนุมก็ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา

ส่วนในบางประเทศกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบการชุมนุมและความรับผิดชอบผู้รับผิดชอบการชุมนุมไว้ต่างหากจากผู้เข้าร่วมการชุมนุม แต่ไม่กำหนดหน้าที่ของผู้รับผิดชอบการชุมนุมไว้โดยเฉพาะ เช่น ประเทศอังกฤษ กำหนดบทลงโทษผู้จัดการชุมนุมไว้เป็นการเฉพาะ โดยผู้จัดการชุมนุมซึ่งรับทราบเงื่อนไขในการชุมนุมแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับระดับ ๔ ของอัตราค่าปรับมาตรฐาน (Standard scale) (ไม่เกิน £ ๒,๕๐๐) ส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งรับทราบเงื่อนไขในการชุมนุมแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับระดับ ๓ ของอัตราค่าปรับมาตรฐาน (ไม่เกิน £ ๑,๐๐๐) แต่ไม่มีการกล่าวถึงหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะและผู้จัดการเดินขบวนไว้

แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบการชุมนุม กำหนดหน้าที่ของผู้รับผิดชอบการชุมนุม แต่ไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้รับผิดชอบการชุมนุมไว้ต่างหากจากผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยในมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ค.ศ. ๑๙๘๕ ได้กำหนดให้แจ้งชื่อหัวหน้าการชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุมไว้ในคำขออนุญาตจัดการชุมนุม และในมาตรา ๘ ก็ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหัวหน้าการชุมนุมและผู้จัดการชุมนุมไว้ด้วย เช่น การแจ้งให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมทราบถึงความรับผิดชอบภายใต้กรอบการอนุญาต ดูแลการชุมนุมไม่ให้ล่วงเลยเวลาที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ทั้งนี้ พระราชบัญญัตินี้ไม่มีการกำหนดความรับผิดของหัวหน้าการชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุมไว้ต่างหากจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่ไม่มีการกำหนดตัวบุคคลที่รับผิดชอบในการชุมนุมไว้ โดยถือว่าผู้ร่วมชุมนุมทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในการชุมนุม เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

๒.๒ เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบการชุมนุม
ประเทศส่วนใหญ่ ทั้งประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน และประเทศฟิลิปปินส์ ต่างก็กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบการชุมนุม

๓. วิธีการและขั้นตอนในการชุมนุม

๓.๑ กลุ่มประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
        ๓.๑.๑ ประเทศที่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ ประเทศฝรั่งเศส การชุมนุมสาธารณะสามารถกระทำได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องมีการขออนุญาตล่วงหน้า (Article premier) แต่ขบวนชุมนุมที่ใช้ถนนสาธารณะต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า (มาตรา ๑) โดยในคำแจ้งการชุมนุมสาธารณะต้องระบุจุดมุ่งหมายของการชุมนุม สถานที่ และเวลาในการรวมตัว และถ้าเป็นไปได้ให้บอกถึงเส้นทางที่ขบวนจะเคลื่อนที่ผ่านด้วย เมื่อเจ้าพนักงานได้รับแจ้งรายละเอียดทั้งหมดแล้ว ให้ออกเอกสารรับรองให้ทันที จะต้องออกใบรับแจ้งให้ผู้แจ้งทันที ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยก็อาจมีคำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะหรือการเดินขบวนได้ โดยต้องแจ้งไปยังผู้ลงนามในหนังสือบอกกล่าวโดยทันที ส่วนสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนของฝรั่งเศสไม่มีข้อห้ามในเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งห้ามไว้ แต่ต้องนำคดีไปฟ้องต่อสภาแห่งรัฐ (Conseil d’Etat) ในการเพิกถอนคำสั่งห้ามนั้น

       ๓.๑.๒ ประเทศที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประเทศที่กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เช่น ประเทศจีน กำหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดให้มีการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องต้องยื่นคำขออนุญาตเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานด้านความมั่นคงประจำท้องถิ่น หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงในระดับที่สูงกว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงประจำท้องถิ่นที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว (กรณีเส้นทางการเดินขบวนหรือการชุมนุมเรียกร้องนั้นเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่รับผิดขอบของหน่วยงานด้านความมั่นคงประจำท้องถิ่นมากกว่าสองแห่งขึ้นไป) ล่วงหน้าอย่างน้อย ๕ วัน (มาตรา ๘) และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ เว้นแต่การชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐ (มาตรา ๗) หรือการชุมนุมที่ผู้จัดได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากหน่วยงานของรัฐให้เป็นผู้จัดขึ้น (มาตรา ๑๗) ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจที่ไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้อง ผู้รับผิดชอบการชุมนุมฯ อาจขอให้รัฐบาลประชาชนในระดับเดียวกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาคำขอนั้นใหม่ภายใน ๓ วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ในการนี้ รัฐบาลประชาชนต้องพิจารณาคำขอนั้นให้แล้วเสร็จภายใน ๓ วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ (มาตรา ๑๓)
ประเทศฟิลิปปินส์ กำหนดให้การจัดการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสำนักงานเทศบาลในเขตพื้นที่จัดการชุมนุม ส่วนการชุมนุมสาธารณะใน freedom park การชุมนุมในสถานที่ส่วนตัว การชุมนุมในมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งจัดโดยสถานศึกษาภายใต้กฎระเบียบของสถานศึกษา และการประชุมทางการเมืองหรือการชุมนุมในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ต้องขออนุญาต (มาตรา ๔) ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธหรือแก้ไขเงื่อนไขในการอนุญาตผู้ขออนุญาตสามารถฟ้องศาลได้ภายใน ๔๘ ชั่วโมง และศาลต้องตัดสินภายใน ๒๔ ชั่วโมง (มาตรา ๖)
ส่วนในประเทศอังกฤษ แม้ในมาตรา ๑๔ ของ Public order act 1986 ซึ่งกล่าวถึงการชุมนุมสาธารณะจะไม่ได้กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องขออนุญาต แต่ในทางปฏิบัติการชุมนุมในที่สาธารณะที่อยู่ในความดูแลของรัฐต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองดูแลทรัพย์สินนั้นก่อน ส่วนการเดินขบวนในที่สาธารณะนั้น มาตรา ๑๑ กำหนดให้ต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ประจำสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่เดินขบวนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖ วันทำการ แต่ไม่ไม่การกล่าวถึงการอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตไว้แต่อย่างใดสำหรับรายละเอียดที่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน
ที่รับผิดชอบ

๑ ประเทศจีน กำหนดว่าคำขออนุญาตจัดการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องต้องประกอบด้วย (มาตรา ๘)
(๑) วัตถุประสงค์ของการจัดการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้อง
(๒) วิธีดำเนินการ
(๓) แผ่นป้ายปิดประกาศและคำขวัญ (Slogan) ที่จะใช้
(๔) จำนวนผู้เข้าร่วม
(๕) จำนวนยานพาหนะที่เข้าร่วม
(๖) รายละเอียดและจำนวนเครื่องเสียงที่จะใช้
(๗) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด
(๘) สถานที่จัดการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องและสถานที่สิ้นสุดการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้อง
(๙) เส้นทางเดินขบวนหรือการชุมนุมเรียกร้อง
(๑๐) ชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของผู้รับผิดชอบการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องนั้น

๒ ประเทศฟิลิปปินส์ กำหนดว่าคำขออนุญาตในการชุมนุมสาธารณะต้องประกอบด้วย (มาตรา ๕ (๑))
(๑) ชื่อของผู้จัดการชุมนุมหรือผู้นำการชุมนุม
(๒) วัตถุประสงค์ของการชุมนุม
(๓) วันเดือนปีและระยะเวลาที่จะจัดการชุมนุม
(๔) สถานที่หรือถนนที่จะใช้ในการชุมนุม
(๕) จำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุม (โดยประมาณ)
(๖) การขนส่งมวลชนที่จะใช้ในการชุมนุม

๓ ประเทศอังกฤษ กำหนดให้หนังสือขออนุญาตเดินขบวนต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (มาตรา ๑๑ (๑) และ (๓))
(๑) วัตถุประสงค์ของการเดินขบวนในที่สาธารณะให้ชัดเจนว่าเพื่อแสดงการสนับสนุนหรือคัดค้านในเรื่องใดของผู้ใดหรือของบุคคลใด หรือเพื่อรณณรงค์ในเรื่องใดหรือโครงการใด หรือเพื่อแสดงความระลึกถึงเหตุการณ์ใด
(๒) วันที่จะมีการเดินขบวน
(๓) กำหนดเวลาเดินขบวน
(๔) เส้นทางการเดินขบวน
(๕) ชื่อนามสกุลของผู้ที่จะจัดการเดินขบวน หรือผู้แทนของคณะผู้จัดการเดินขบวน

๓.๒ ประเทศที่ไม่มีกฎหมายการชุมนุมโดยเฉพาะ
คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีกฎหมายกำหนดวิธีการและขั้นตอนในการชุมนุมวาธารณะไว้แต่อย่างใด แต่ในทางปฏิบัติมักมีการบอกกล่าวแก่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบเพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยเท่านั้น โดยไม่มีการกำหนดรายละเอียดข้อมูลที่จะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ไว้

๔. ข้อจำกัดในการชุมนุม

๔.๑ เวลาในการชุมนุม
ประเทศฝรั่งเศส ห้ามมิให้มีการชุมนุมหลังจากเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา เว้นเสียแต่ว่าสถานที่สาธารณะนั้นจะปิดให้บริการหลังเวลาดังกล่าว ก็ให้สามารถชุมนุมต่อไปได้จนถึงเวลาปิดให้บริการที่กำหนดไว้ ประเทศจีน เวลาชุมนุม เดินขบวน หรือชุมนุมเรียกร้องนั้น จำกัดระหว่างเวลา ๖ นาฬิกา ถึง ๒๒ นาฬิกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่น
(มาตรา ๒๔) ส่วนประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์ ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการชุมนุมไว้ในกฎหมายโดยเฉพาะ

๔.๒ สถานที่ในการชุมนุม
ประเทศจีนห้ามมิให้จัดการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องในรัศมี ๑๐-๓๐๐ เมตรโดยรอบสถานที่ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๒๓)เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาประชาชนหรือรัฐบาลประชาชนประจำจังหวัด
(๑) ทรัพย์สินของกรรมาธิการสามัญแห่งสภาประชาชน กรรมาธิการแห่งรัฐกรรมาธิการทหาร ศาลประชาชนสูงสุด และผู้แทนประชาชนสูงสุด
(๒) สถานที่ซึ่งแขกของรัฐพักอยู่
(๓) ที่ทำการทางทหารที่สำคัญ
(๔) ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ และท่าเรือ

๕. การควบคุมการชุมนุมสาธารณะ

ประเทศอังกฤษ ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจในพื้นที่ที่มีการชุมนุมยื่นคำร้องต่อสภาเทศบาลเพื่อมีคำสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุม หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าการชุมนุมนั้นการชุมนุมนั้นอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนในบริเวณนั้น หรือที่ดินหรืออาคารหรืออนุสาวรีย์ที่อยู่ในที่ดินนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือวิทยาศาสตร์ และการชุมนุมในสถานที่นั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินหรืออาคารหรืออนุสาวรีย์ที่อยู่ในที่ดินนั้น (มาตรา ๑๔ ๑(a))

ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างการชุมนุมเจ้าพนักงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถห้ามการพกพาอาวุธหรือสิ่งที่สามารถใช้เป็นอาวุธที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่าง ๒๔ ชั่วโมงก่อนการชุมนุม จนกระทั่งการชุมนุมสลายตัว และเจ้าพนักงานตำรวจสามารถห้ามการชุมนุมได้ทันทีหากเห็นว่าการชุมนุมที่จะจัดขึ้นจะทำให้เกิดความวุ่นวายต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยออกประกาศแจ้งให้ผู้รับผิดชอบการชุมนุมที่ให้ชื่อเอาไว้ให้ทราบ นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีก็สามารถออกประกาศห้ามหรือสั่งยกเลิกการชุมนุมนั้นได้เช่นกัน โดยต้องส่งรายงานพร้อมหมายห้ามให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบภายใน ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเห็นด้วยตามที่นายกเทศมนตรีเสนอ หรืออาจจะยกเลิกการห้ามชุมนุมนั้นเสียก็ได้

ประเทศจีน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยุติการชุมนุม การเดินขบวนหรือหากชุมนุมเรียกร้องได้ หากการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต หรือเป็นการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการกระทำดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหรืออาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อย และถ้าผู้เข้าร่วมการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องละเมิดเขตปลอดภัยชั่วคราวก็ดี รุกเข้าไปในรัศมีที่กำหนดไว้ก็ดี หรือกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่นก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับและคุมขังผู้เข้าร่วมการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้องได้ทันที (มาตรา ๒๗)

ประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซงการจัดการชุมนุมสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยสาธารณะเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้คำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบสามารถประจำการในระยะห่างจากการชุมนุมอย่างน้อย ๑๐๐ เมตรจากพื้นที่ชุมนุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม (มาตรา ๙) นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนี้
(๑) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต้องแต่งเครื่องแบบพร้อมทั้งติดป้ายชื่อและหน่วยงานต้นสังกัด
(๒) เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่พกาพาอาวุธปืนแต่อาจมีกระบองหมวกกันกระแทกหน้ากากกันแก๊ส โล่ รองเท้าบูทหรือรองเท้าหุ้มข้อพร้อมสนับแข้งได้
(๓) ห้ามใช้แก๊สน้ำตา ระเบิดควัน ท่อฉีดน้ำ หรืออุปกรณ์ต่อต้านการจลาจลที่คล้ายกันเว้นแต่การชุมนุมสาธารณะนั้นมีการใช้ความรุนแรง หรือเจตนาทำลายทรัพย์สิน (มาตรา ๑๐) และหากมีความจำเป็นในการสลายการชุมได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสลายการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตเป็น ๓ ขั้นตอน (มาตรา ๑๑) คือ
ขั้นตอนที่หนึ่ง หากเริ่มมีสัญญาณความรุนแรงให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายเรียกผู้นำการชุมนุมเพื่อหาแนวทางป้องกัน
ขั้นตอนที่สอง หากความรุนแรงเริ่มเกิดขึ้นโดยมีการขว้างปาก้อนหินหรือวัตถุที่เป็นอันตรายอื่นๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ร่วมชุมนุม หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งต้องเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุมว่า หากการชุมนุมยังคงวุ่นวายจะมีการสลายการชุมนุม
ขั้นตอนที่สาม หากความรุนแรงหรือความวุ่นวายยังปรากฏเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งต้องเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุม และหลังจากนั้นจึงสลายการชุมนุม
ขั้นตอนที่สี่ ห้ามจับกุมผู้นำการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ร่วมการชุมนุม เว้นแต่มีการฝ่าฝืนกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ รัฐบัญญัติ รัฐกฤษฎีกา หรือบทบัญญัติต่างๆ ในกฎหมายนี้ การจับกุมต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๒๕ ของประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น กฎหมายการชุมนุมสาธารณะของประเทศฟิลิปปินส์กำหนดไว้ว่าสามารถสลายการชุมนุมดังกล่าวได้โดยสงบ (มาตรา ๑๒)

ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการกับการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการปิดการเข้าออกพื้นที่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๐๙.๕)

๖. บทลงโทษ

๖.๑ บทลงโทษผู้รับผิดชอบการชุมนุม สำหรับประเทศที่กำหนดผู้รับผิดชอบการชุมนุมไว้ มักจะกำหนดบทลงโทษผู้รับผิดชอบการชุมนุมไว้สูงกว่าผู้ร่วมการชุมนุม ทั้งนี้ เนื่องจากผู้รับผิดชอบการชุมนุมมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย เช่น ประเทศจีนกำหนดให้ผู้รับผิดชอบการชุมนุมอาจถูกเตือนหรือขัง ๑๕ วัน และต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา ๑๕๘ แห่งกฎหมายอาญาด้วย (มาตรา ๒๙) ส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาในระหว่างการชุมนุมก็ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา ประเทศอังกฤษ กำหนดบทลงโทษผู้จัดการชุมนุมไว้เป็นการเฉพาะ โดยผู้จัดการชุมนุมซึ่งรับทราบเงื่อนไขในการชุมนุมแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับระดับ ๔ ของอัตราค่าปรับมาตรฐาน (Standard scale) (ไม่เกิน £ ๒,๕๐๐) ส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งรับทราบเงื่อนไขในการชุมนุมแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับระดับ ๓ ของอัตราค่าปรับมาตรฐาน (ไม่เกิน £ ๑,๐๐๐)

๖.๒ บทลงโทษผู้ขัดขวางเสรีภาพในการชุมนุม มีบัญญัติในกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส โดยกำหนดว่า มาตรา ๔๓๑-๑ ของประมวลกฎหมายอาญา มีบทบัญญัติโทษรองรับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การกระทำใดๆ โดยรวมกลุ่มกันและมีการข่มขู่ ที่เป็นการขัดขวางการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การทำงาน การรวมตัวกันเป็นสมาคม การชุมนุมหรือการเดินขบวน ต้องระวางโทษจำคุก ๑ ปี และโทษปรับ ๑๕,๐๐๐ ยูโร หากมีการใช้ความรุนแรง หรือทำลายทรัพย์สิน ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นเป็นจำคุก ๓ ปี และโทษปรับ ๔๕,๐๐๐ ยูโร

๖.๓ บทลงโทษผู้เข้าร่วมการชุมนุม
       ๖.๓.๑ ผู้เข้าร่วมชุมนุมสาธารณะก่อความไม่สงบ เป็นฐานความผิดในประเทศฝรั่งเศส หากมีการเตือนให้สลายการชุมนุมเองแล้ว ๒ ครั้ง แต่ผู้ชุมนุมยังคงการชุมนุมต่อไป ผู้ชุมนุมอาจต้องระวางโทษจำคุก ๑ ปี และโทษปรับ ๑๕,๐๐๐ ยูโร ในกรณีไม่มีอาวุธ และอาจต้องระวางโทษจำคุก ๓ ปี และโทษปรับ ๔๕,๐๐๐ ยูโร ในกรณีที่มีอาวุธ ต่อจากนี้ หากผู้ใดจงใจเข้าร่วมการชุมนุมต่อไปอีก จะต้องระวางโทษจำคุกเพิ่มขึ้นเป็น ๕ ปี และโทษปรับเป็น ๗๕,๐๐๐ ยูโร มาตรา ๔๓๑-๓ ถึงมาตรา ๔๓๑-๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา)
       ๖.๓.๒ ผู้เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งรับทราบเงื่อนไขในการชุมนุมแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นฐานความผิดในประเทศอังกฤษต้องระวางโทษปรับระดับ ๓ ของอัตราค่าปรับมาตรฐาน (ไม่เกิน £ ๑,๐๐๐) เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้เนื่องจากเหตุที่ตนไม่ต้องรับผิดชอบ (มาตรา ๑๔ (๕) และ (๙))

๖.๔ บทลงโทษผู้ยุยงส่งเสริม (Incite) ผู้เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งรับทราบเงื่อนไขในการชุมนุมแล้วมิให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข เป็นฐานความผิดในประเทศอังกฤษ กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับระดับ ๔ ของอัตราค่าปรับมาตรฐาน (ไม่เกิน £ ๒,๕๐๐) หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๔ (๖) และ (๑๐))

๖.๕ บทลงโทษผู้ปลุกระดมโดยตรงให้มีการชุมนุมก่อความไม่สงบโดยใช้อาวุธ ไม่ว่าจะกระทำโดยการป่าวร้องหรือการแถลงการณ์ โดยการเขียน คำพูด หรือรูปภาพ ที่ติดประกาศหรือแจกจ่าย เป็นฐานความผิดในประเทศฝรั่งเศส กำหนดโทษจำคุก ๑ ปี และโทษปรับ ๑๕,๐๐๐ ยูโร และหากการปลุกระดมนั้นเป็นผล โทษจะเพิ่มเป็นจำคุก ๗ ปี และโทษปรับ ๑๐๐,๐๐๐ ยูโร (มาตรา ๔๓๑-๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา) และยังกำหนดโทษเพิ่มเติมให้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและทางแพ่ง ห้ามมิให้พกพาอาวุธ ถูกริบอาวุธ หรือถูกจำกัดเขต สำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายในการเดินขบวนและผู้ที่ปลุกระดมให้ชุมนุมก่อความไม่สงบโดยใช้อาวุธอีกด้วย

16 October 2009

การใช้สิทธิทางศาลของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


            ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นับถึงปัจจุบันประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลากว่า ๗๐ ปี ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง ๑๗ ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๘ หากพิจารณารัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างสูง เห็นได้จากการบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้อย่างชัดเจน โดยมีเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลได้หลายช่องทาง ดังนี้

๑. การใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวด ๓ เรื่องสิทธิและเสรีภาพ (มาตรา ๒๘)
เป็นการประกันสิทธิการใช้สิทธิทางศาลในกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยถูกล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ซึ่งสืบเนื่องจากการปรับปรุงหลักการของหมวดสิทธิเสรีภาพ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เคยกำหนดให้การใช้สิทธิเสรีภาพต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบัญญัติขึ้นเสียก่อน จึงตัดข้อความเดิมที่เคยบัญญัติไว้ว่า "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ในมาตราต่างๆ ออก ดังนั้น จึงต้องกำหนดให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพได้โดยตรงแม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่หากการใช้สิทธิเสรีภาพเรื่องใด มีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดไว้แล้วก็ให้เป็นไปตามกฏหมายนั้น ดังนั้น หากรัฐไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ประชาชนก็มีสิทธิฟ้องศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามสิทธิเสรีภาพนั้นๆ ได้

๒. การฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดในการกระทำละเมิด กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการหรือละเว้นการกระทำการ (มาตรา ๖๐)
มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ โดยกำหนดให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการกระทำ หรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ มีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยภาระการพิสูจน์ไม่ได้ตกอยู่กับประชาชน กล่าวคือ เพียงแค่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ อันทำให้ประชาชนผู้นั้นได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องต่อศาลได้ เช่น กรณีรัฐปล่อยให้ถนนหลวงชำรุดเสียหายแล้วประชาชนผู้ใช้ถนนได้รับอุบัติเหตุหรือรถชำรุด ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการนั้นสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ในการดูแลรักษาถนนหนทางให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หลักการนี้เคยมีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เพียงแต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตัดคำว่า "ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ" เพื่อให้สามารถใช้สิทธิได้ทันที

๓. การฟ้องหน่วยงานรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน (มาตรา ๖๗)
รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้บุคคลได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะเข้าร่วมกับรัฐหรือชุมชน ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา การได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ หรือในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน โดยชุมชนมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนได้

๔. การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ (มาตรา ๒๑๒)
หลักการนี้ปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คดีขึ้นสู่ศาลมากเกินไปจึงมีการกำหนดให้การเสนอคดีจะทำได้เฉพาะกรณีที่ไม่อาจใช้วิธีการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องไว้ ดังนี้

๔.๑ หลักเกณฑ์การยื่นคำร้อง
(๑) ต้องเป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ กล่าวคือ ผู้ยื่นคำร้องต้องเป็น
ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ
(๒) ต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในหมวด ๓ ของรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย (มาตรา ๓๒) เสรีภาพในเคหสถาน (มาตรา ๓๓) เสรีภาพในการเดินทาง (มาตรา ๓๔) เสรีภาพในการสื่อสาร (มาตรา๓๖) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม (มาตรา ๓๘ และมาตรา ๔๐) สิทธิในทรัพย์สิน (มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒) เป็นต้น
(๓) ต้องเป็นไปเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะขอให้ศาลวินิจฉัยเป็นไปในแนวทางอื่น เช่น ขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิด หรือขอให้ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่ได้
(๔) ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว กล่าวคือ ไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา ๒๑๑ ไม่สามารถใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๒๔๕ (๑) และไม่สามารถใช้สิทธิทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒)

๔.๒ การเขียนคำร้อง ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง
(๒) ระบุมาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง
(๓) ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
(๔) คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง
(๕) ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย
(๖) ระบุเหตุที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีประชาชนฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก แต่คำร้องส่วนใหญ่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้อง เช่น ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีคำขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยในเรื่องอื่นนอกเหนือจากขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือยังสามารถใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้ เป็นต้น ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไปได้