21 October 2010

"ระบบการชันสูตรพลิกศพ"  
(Medicolegal investigative system)

เว้นช่วงไปนานสำหรับการเขียนบล็อค.. ช่วงนี้ภาระการงานลดน้อยลงพอจะมีเวลามาอัพเดท ก็เลยถือโอกาสนำงานที่ได้รับมอบหมายชิ้นล่าสุดมาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยขอนำเสนอในหัวข้อ "ระบบการชันสูตรพลิกศพ"  (Medicolegal investigative system) ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากบุคคลผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการสอบสวนหาสาเหตุแห่งการตายและการชันสูตรพลิกศพ ก็อาจแบ่งระบบการชันสูตรพลิกศพของประเทศต่างๆ ได้เป็น ๓ ระบบใหญ่ๆ ดังนี้


๑. ระบบตำรวจ (Police System) คือ ระบบที่อำนาจการตัดสินใจต่างๆ ในการชันสูตรพลิกศพขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสำคัญ โดยบางประเทศที่ใช้ระบบนี้กำหนดให้ตำรวจมีอำนาจเต็มที่เพียงสถาบันเดียว ได้แก่ จีน อินเดีย มาเลเซีย นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ และไอร์แลนด์ บางประเทศกำหนดให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมร่วมชันสูตรกับตำรวจด้วย ได้แก่ รัสเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งกำหนดให้ตำรวจทำการชันสูตรร่วมกับอัยการ ส่วนประเทศไทยซึ่งใช้ระบบตำรวจเช่นกัน ได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ (ป.วิอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคหนึ่ง) แต่ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ด้วย (ป.วิอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเจ้าหน้าที่อื่นร่วมในการชันสูตรพลิกศพแต่อำนาจตัดสินใจสูงสุดก็ยังอยู่ที่ตำรวจ (สนใจรายละเอียดการดำเนินการของแต่ละประเทศดูเพิ่มเติมที่ "รายงานการเก็บข้อมูลกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศมุสลิม เรื่อง ระบบการชันสูตรพลิกศพในประเทศมุสลิม" โดย ว่าที่ร้อยตรีพรินทร์  เพ็งสุวรรณ )


๒. ระบบเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ (Coroner System) เป็นระบบที่อำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการสอบสวนหาสาเหตุการตายอยู่ที่เจ้าหน้าที่ชันสูตรหรือโคโรเนอร์ ซึ่งในแต่ละประเทศก็กำหนดคุณสมบัติหรือบุคคลที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตรแตกต่างกันออกไป
การชันสูตรพลิกศพระบบนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ และแพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพไม่ใช่แพทย์ อาทิเช่นในมลรัฐCalifornia ของสหรัฐอเมริกากำหนดให้นายอำเภอ (Sheriff) เป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ และในบางมลรัฐให้สัปเหร่อ (Funeral director) เป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ ประกอบกับกฎหมายการชันสูตรพลิกศพ (Coroner law) ก็ไม่ได้กำหนดให้การชันสูตรพลิกศพต้องปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือไม่จำเป็นต้องผ่าพิสูจน์ศพแต่อย่างใด ทำให้ความถูกต้องในการระบุสาเหตุและพฤติกรรมการตายไม่ถูกต้องนัก ในระยะต่อมาจึงได้ปรับปรุงแก้ไขระบบนี้โดยการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพต้องเป็นแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตามแพทย์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นพยาธิแพทย์ (Pathologist) หรือนิติพยาธิแพทย์ (Forensic pathologist) (หมายถึง แพทย์ที่จบเฉพาะทางด้านพยาธิวิทยาแล้วศึกษาต่อเฉพาะทางด้านนิติเวชศาสตร์อีก ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นิติพยาธิวิทยา ) ในทางปฏิบัติมีการมอบหมายให้แพทย์ทั่วไปซึ่งขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพซึ่งก็ยังคงเกิดปัญหาความถูกต้องในการระบุสาเหตุและพฤติการณ์การตาย ส่งผลให้เกิดแนวคิดในการใช้แพทย์เฉพาะทางซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการตรวจหาสาเหตุและพฤติกรรมการตายอันนำไปสู่ระบบการชันสูตรพลิกศพแบบแพทย์สอบสวน (Medical examiner system) (แปลและสรุปความจาก Forensic Pathology /Dominick DiMaio,Vincent J.DiMaio, 2nd edition, p.9-11) ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป


อย่างไรก็ตาม อาจแบ่งกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพออกเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
๒.๑ ระบบเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพของประเทศอังกฤษ เป็นระบบที่ให้อำนาจศาลสอบสวนสาเหตุการตาย โดยมีผู้ทำการสอบสวนในนามศาล เรียกว่า เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ (Coroner officer) เป็นผู้ช่วย ทั้งนี้ บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพในแต่ละประเทศนั้นกำหนดคุณสมบัติไว้แตกต่างกัน เช่น ประเทศแคนาดา กำหนดให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรต้องเป็นแพทย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอัยการจังหวัด ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ กำหนดให้ต้องเป็นนักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในผ่าพิสูจน์ศพก็ต้องอาศัยพยาธิแพทย์เป็นผู้ดำเนินการ
๒.๒ ระบบเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพของยุโรป เป็นระบบที่ผู้พิพากษาเป็นผู้มีอำนาจในการสอบสวนหาสาเหตุการตาย ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น เยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศส
- ประเทศเยอรมัน ผู้พิพากษาเป็นผู้สั่งว่าสมควรให้มีการผ่าตรวจศพหรือไม่ แพทย์มีหน้าที่เพียงรับคำสั่งจากผู้พิพากษาเท่านั้น คณะผู้ผ่าศพมี ๔ คนประกอบด้วยแพทย์ ๒ คน โดยต้องเป็นแพทย์ที่ศาลแต่งตั้ง ๑ คน ผู้พิพากษา ๑ คน และเสมียนศาลอีก ๑ คน อย่างไรก็ตาม ศาลอาจจะจัดการการพิจารณาไต่สวนเองโดยไม่ต้องอาศัยความเห็นหรือความช่วยเหลือจากแพทย์เลยก็ได้
- ประเทศฝรั่งเศส การผ่าศพจะต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานอัยการหรือผู้พิพากษา เมื่อพนักงานอัยการหรือผู้พิพากษายินยอมแล้วจะออกคำสั่งไปยังสถาบัน
นิติเวชเพื่อผ่าตรวจศพและให้รายงานกลับไปยังผู้ออกคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง
- ประเทศอิตาลี การผ่าศพต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนเสมอและแพทย์ผู้ผ่าศพจะต้องเป็นนิติพยาธิแพทย์ (Forensic pathologist) แต่หากไม่มีแพทย์ดังกล่าวก็อาจใช้แพทย์สาขาอื่นก็ได้


๓. ระบบแพทย์สอบสวน (Medical Examiner System) เป็นระบบที่พัฒนามาจากระบบเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ (Coroner System) ซึ่งระบบนี้ใช้ในบางมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากข้อบกพร่องของระบบเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ (Coroner system) ที่เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพไม่ใช่แพทย์ทำให้ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ดังนั้น ในระบบนี้จึงกำหนดให้การสอบสวนหาสาเหตุการตายต้องทำโดยแพทย์ และแพทย์เป็นผู้ออกไปยังสถานที่เกิดเหตุเองซึ่งจะส่งผลดีในการตรวจร่องรอยและวัตถุพยานมาใช้ประกอบการผ่าพิสูจน์ศพ นอกจากนี้ แพทย์ยังมีอำนาจในการสั่งให้ย้ายศพจากสถานที่เกิดเหตุและออกคำสั่งห้ามแตะต้องศพได้


อนึ่ง การศึกษาระบบการชันสูตรพลิกศพนั้น จะเป็นประโยชน์ในแง่ของการทราบกรอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานในการสอบสวนหาสาเหตุการตายซึ่งเจ้าหน้าที่จะสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยหากเป็นการชันสูตรพลิกศพระบบตำรวจ (Police system) อำนาจในการตัดสินใจสูงสุดเป็นของตำรวจ หากเป็นระบบเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ (Coroner system) อำนาจการตัดสินใจสูงสุดคือศาล โดยศาลเป็นผู้แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ (Coroner officer) ทำการสอบสวนหาสาเหตุการตาย ส่วนระบบแพทย์สอบสวน (Medical examiner) นั้น อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดเป็นของแพทย์สอบสวน




สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการชันสูตรพลิกศพค้นคว้าเพิ่มเติมที่
- Forensic Pathology, Dominick DiMaio and Vincent J.DiMaio,  2nd edition
Spitz and Fisher's medicolegal investigation of death: guideline for application of pathology to crime investigation, edited by Werner U.Spitz,
co-edited by Daniel J. Spitz; with a foreword by Ramsey Clark, 4th edition
- Knight's forensic pathology, Pekka Saukko and Bernard Knight, 3rd edition
- รายงานการเก็บข้อมูลกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศมุสลิม เรื่อง ระบบ
การชันสูตรพลิกศพในประเทศมุสลิมกรณีศึกษาเฉพาะประเทศอิหร่านและอียิปต์
โดยว่าที่ร้อยตรีพรินทร์ เพ็งสุวรรณ (ภายใต้โครงการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ในประเทศมุสลิมศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย
สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม)
- งานวิจัยหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงบทบาทและหน้าที่ของแพทย์ในการชันสูตรศพตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิโรจน์ ไวยวุฒิ (วิทยาลัยการยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม)