04 September 2009

หนังสือแสดงเจตนาในการรักษาพยาบาล
(Living will)


              การกำหนดเจตนารมณ์ในการมีชีวิตอยู่ (Living will) หรือการทำการุณยฆาต (Euthanasia) ปัจจุบันมีการกล่าวถึงและได้รับการอภิปรายกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นในทางกฎหมายและศีลธรรม ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง คือ แนวคิดเรื่องการตายอย่างมีศักดิ์ศรี(Death with dignity) โดยแนวคิดนี้มองว่าการตายโดยที่มีสายยางหรือเครื่องมือทางการแพทย์ติดอยู่กับผู้ป่วยเป็นการตายอย่างไร้ศักดิ์ศรี (Indignity)ด้วยแนวคิดนี้จึงก่อให้เกิดคำว่า “Living will" หรือ “หนังสือเจตนาในการรักษาพยาบาล” หรือ “พินัยกรรมชีวิต”

              ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ และบางประเทศในยุโรปยอมรับการทำ Living will เพราะเห็นว่ามนุษย์มีอิสระในการตัดสินโชคชะตาของตัวเองแม้ในเรื่องการตายและควรมีกฎหมายรับรองถึงสิทธิการตาย (Right to die) ดังนั้น Living will จึงเป็นที่แพร่หลายในประเทศตะวันตก สำหรับประเทศไทยแนวคิดเรื่องนี้ถูกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อความเข้าใจถึงลักษณะของหนังสือ Living will จึงขอกล่าวถึงรายละเอียดเป็นข้อๆ ดังนี้


๑. ความหมายของหนังสือ Living will

              หนังสือ Living will นั้นในแต่ละประเทศใช้ถ้อยคำแตกต่างกัน เช่น ประเทศอังกฤษใช้คำว่า “Advance decisions” ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า “Health care advance directive” ประเทศสิงคโปร์ใช้คำว่า “Advance medical directive (AMD)” ซึ่งหมายถึง เอกสารทางกฎหมายที่บุคคลทำขึ้นเพื่อแสดงเจตนาไม่รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยให้มีผลเมื่อผู้ทำหนังสืออยู่ในภาวะที่ไม่อาจแสดงเจตนาได้ด้วยตนเอง

              ทั้งนี้ การแสดงเจตนาในการตายอย่างสงบนี้ไม่ถือเป็นการุณยฆาต (Mercy Killing) ไม่ใช่กรณีเร่งการตายที่เป็น Active Euthanasia แต่เป็นเรื่องของการตายตามธรรมชาติ โดยไม่ประสงค์จะยืดการตายด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ การเขียน Living Will ไว้จึงเป็นแนวทางให้แพทย์ได้เดินไปในแนวทางของ Passive Euthanasia โดยไม่ใช้เครื่องมือต่างๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ยังมีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง(Palliative Care) คือ การบรรเทาความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย และช่วยให้เขาได้จากไปอย่างสงบตามวิถีแห่งธรรมชาติ (ที่มา : แสวง บุญเฉลิมวิภาส, หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต ในหนังสือ “ก่อนวันผลัดใบ : หนังสือแสดงเจตนาการจากไปในวาระสุดท้าย”, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ๒๕๕๒), หน้า ๑๓๔-๑๓๘)


๒. ประโยชน์ของหนังสือแสดงเจตนาในการรักษาพยาบาล (ที่มา : เวบไซต์ ThaiLivingWill)
๒.๑ ผู้ป่วยสามารถแสดงความต้องการไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ตนปรารถนาหรือไม่ปรารถนา ในเวลาที่ตนไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ รวมทั้งความต้องการที่จะเสียชีวิตที่บ้าน หรือต้องการอยู่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัว ญาติมิตร คนใกล้ชิด

๒.๒ ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ช่วยบรรเทาความทรมานทางกายที่เกิดจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

๒.๓ ผู้ป่วยไม่ต้องทนทรมานจากการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เช่น การเจาะคอเพื่อใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือการปั๊มหัวใจเมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาพร่างกายอ่อนแอ

๒.๔ ช่วยลดความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันของญาติเกี่ยวกับวิธีการรักษาผู้ป่วย เพราะผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาสามารถแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แสดงเจตนาแทนหรือตัดสินใจแทนผู้ป่วยได้

๒.๕ ลดความกังวลของแพทย์ พยาบาลในการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าวคือ ไม่ต้องห่วงว่าการรักษาจะไม่ได้ผลหรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเป็นภาวะของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและเป็นความประสงค์ของผู้ป่วย

๒.๖ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานหรือคนในครอบครัว รวมทั้งระบบบริการสาธารณสุขโดยรวมที่ยังมีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมาก


๓. หนังสือแสดงเจตนาในการรักษาพยาบาล (Living will) ในต่างประเทศ

           ประเทศสิงคโปร์ มีกฎหมาย Advance Medical Directive Act” (๑๙๙๖) กำหนดว่าบุคคลที่มีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ และมีสติสัมปชัญญะสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาในการรักษาพยาบาล (Advance Medical Directive) ได้ โดยจะต้องกรอกเนื้อหาในแบบฟอร์มและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย ๒ คน พยานคนหนึ่งจะต้องเป็นแพทย์ พยานอีกคนหนึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นจะต้องส่งเอกสารนี้ไปให้นายทะเบียนที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อบันทึกเป็นข้อมูล(มาตรา ๓ และมาตรา ๕)
        ส่วนประเทศอังกฤษ มีกฎหมายชื่อ Mental Capacity Act (๒๐๐๕) กำหนดให้บุคคลที่มีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์และมีความสามารถตามกฎหมายสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาในการปฏิเสธรักษาพยาบาลได้ (Advance decisions to refuse treatment) โดยเนื้อหาในหนังสือจะระบุวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยปฏิเสธในกรณีต่างๆ การตัดสินใจทางการแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยใกล้อยู่ในความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ซึ่งผู้ที่เป็นพยานอาจเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลใดก็ได้ที่ผู้ทำหนังสือไว้วางใจ (มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖)
           นอกจากนี้ หนังสือแสดงเจตนาในการรักษาพยาบาลยังได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอีกหลายประเทศในยุโรป

๔. หนังสือแสดงเจตนาในการรักษาพยาบาล (Living will) ในประเทศไทย

             ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฯ บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยไว้ โดยวิธีการดำเนินการกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งในขณะนี้กฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างการยกร่าง โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในเบื้องต้นเนื้อหาในร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญ ดังนี้ (สามารถ Download ร่างกฎกระทรวงฯ ที่เวบไซต์ ThaiLivingWill

(๑) กำหนดบทนิยามของคำว่า “หนังสือแสดงเจตนา” “บริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย” “วาระสุดท้ายของชีวิต” “สภาพผักถาวร” และ “การทรมานจากการเจ็บป่วย”

(๒) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการทำหนังสือแสดงเจตนา

(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา

    นอกจากนี้ในมาตรา ๑๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฯ ยังกำหนดรองรับไว้อีกว่าเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ แล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในตอนนี้ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ จะอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่เมื่อทันทีที่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้คาดว่าประชาชนจำนวนมากต้องให้ความสนใจในการทำหนังสือแสดงเจตนานี้แน่นอน ซึ่งหากผู้อ่านสนใจเกี่ยวกับ Living Will หรือประสงค์จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวก็สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์  http://www.thailivingwill.in.th/ คะ

ความตั้งใจเล็กๆ

สำหรับความตั้งใจในการสร้างบล็อกนี้ขึ้น
เป็นการรวบรมบทความที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นไว้ในที่เดียวกัน
และเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าข้อมูลสำหรับผู้สนใจทั่วไป
ก็เลยเลือกที่จะเก็บรวบรวมไว้ในเวบบล็อก..
เพื่อผู้ใช้ Internet ค้นหาข้อมูลจะได้ประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย

ทั้งนี้ บทความ/ข้อเขียนต่างๆ เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน
อาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์...
แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย
หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็แนะนำติชมกันได้นะคะ