23 September 2017

การจำกัดสิทธิและการลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งในต่างประเทศ

การจำกัดสิทธิและการลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งในต่างประเทศ

ในประเทศที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่มักมีบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ไปเลือกตั้งโดยเฉพาะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในระดับประเทศ ทั้งนี้ การกำหนดโทษดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนไปทำหน้าที่ของตน ซึ่งบทลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
โดยสามารถจัดแบ่งประเภทการลงโทษได้ ดังนี้
๑. การขอให้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ไปเลือกตั้ง
การกำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งชี้แจงแสดงเหตุผลเป็นกระบวนการที่ปรากฏในเกือบทุกประเทศที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เช่น ในประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นในการไม่ไปใช้สิทธิก่อนที่จะมีการกำหนดบทลงโทษ ในขณะที่ประเทศเบลเยี่ยม ลักแซมเบิร์ก และประเทศลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับให้ต้องแสดงเหตุผลที่ไม่ได้ไปทำหน้าที่ลงคะแนนเสียง แต่ขึ้นอยู่กับผู้ไม่ไปเลือกตั้งเองว่าจะชี้แจงหรือไม่ ซึ่งการชี้แจงดังกล่าวหากมีน้ำหนักมากเพียงพอผู้ไม่ไปเลือกตั้งอาจไม่ถูกลงโทษ
๒. การประกาศต่อสาธารณะ
ในบางประเทศอาจมีการติดประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปเลือกตั้งในที่สาธารณะ เช่น
ศาลาว่าการของเมือง เพื่อให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งเกิดความอับอาย การลงโทษรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นใน
ประเทศอิตาลีก่อนถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. ๑๙๙๓
๓. โทษปรับ
โทษปรับเป็นโทษที่นิยมมากที่สุดในการลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้ง โดยจำนวนค่าปรับ
ในแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป เช่น ๑ เรียล – ๔ เรียล (ประมาณ ๑๐ – ๔๐ บาท) ในประเทศบราซิล ๒๐ ดอลลาร์ในประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ ๕๐๐ บาท) โทษปรับมากกว่า ๑๐๐ ยูโร (ประมาณ ๔,๐๐๐ บาท) ในประเทศลักแซมเบิร์ก นอกจากนี้ ในบางประเทศยังกำหนดให้มีการเพิ่มโทษในกรณีที่มีการกระทำผิดซ้ำ เช่น ในประเทศเบลเยียมกำหนดโทษปรับ ๒๕ – ๕๐ ยูโร (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ บาท) สำหรับการไม่ไปเลือกตั้งครั้งแรก แต่หากไม่ไปเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อมาอีกค่าปรับจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๕๐ – ๑๒๐ ยูโร (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๔,๘๐๐ บาท)
๔. การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและสิทธิอื่นๆ
ในหลายประเทศกำหนดบทลงโทษผู้ไม่ไปเลือกตั้งโดยการจำกัดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เช่น ในเบลเยียมกำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้ง ๔ ครั้งในรอบ ๑๕ ปี จะถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งเป็นเวลา ๑๐ ปี หรือในประเทศสิงคโปร์ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ แต่หากผู้ถูกเพิกถอนชื่อแสดงเหตุผลในการไม่ไปเลือกตั้งและเหตุผลดังกล่าวรับฟังได้ หรือยอมชำระค่าธรรมเนียม จำนวน ๕๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ ๕๐๐ บาท) เจ้าหน้าที่ก็จะนำชื่อของบุคคลดังกล่าวกลับมาใส่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ในหลายประเทศ เช่น ประเทศอาร์เจนติน่า โบลิเวีย บราซิล สิงคโปร ที่กำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิในการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย
๕. การห้ามรับราชการหรือเป็นพนักงานของรัฐ
ในบางประเทศผู้ไม่ไปเลือกตั้งอาจถูกระงับสิทธิในการสมัครเข้ารับราชการหรือเป็นพนักงานของรัฐ เช่น ประเทศเบลเยี่ยมกำหนดให้ผู้ที่ไม่ไปเลือกตั้งไม่สามารถสมัครเข้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐได้ รวมทั้งจะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหากเป็นข้าราชการอยู่แล้วและไม่อาจได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากรัฐได้ ในประเทศอาร์เจนติน่ากำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะต้องเสียสิทธิในการสมัครงานกับภาครัฐเป็นเวลา ๓ ปี สำหรับประเทศโบลิเวียผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้รับ “ใบรับรองการเลือกตั้ง” (Suffrage certificate) ซึ่งใบรับรองดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ในการสมัครงานกับภาครัฐ รวมถึงการรับเงินเดือนจากรัฐ และการทำธุรกรรมทางการเงินด้วย
๖. การเสียสิทธิในการบริการสาธารณะบางประการ
สำหรับผู้ไม่ไปเลือกตั้งในประเทศโบลิเวียจะถูกจำกัดสิทธิในการขอหนังสือเดินทางเป็นเวลา ๙๐ วัน ในประเทศบราซิล ผู้ไม่ไปเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิในการกู้ยืมเงินจากรัฐหรือจากสถาบันการเงินที่บริหารงานโดยรัฐ สิทธิในการทำหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน และสิทธิในการต่อใบอนุญาตครูในสถานศึกษาของรัฐหรือสถานศึกษาที่ควบคุมโดยรัฐ
๗. การจำคุก
การจำคุกผู้ไม่ไปเลือกตั้งเป็นการลงโทษที่ปรากฏน้อยมาก แต่ในประเทศออสเตรเลียหากผู้ไม่ไปเลือกตั้งไม่ยอมชำระค่าปรับจากการไม่ไปลงคะแนนเสียงอาจถูกลงโทษจำคุกฐานไม่เสียค่าปรับได้ ซึ่งการจำคุกดังกล่าวเคยเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ ที่มีผู้ไม่ไปเลือกตั้งถูกจำคุกเป็นเวลา ๑ ถึง ๒ วัน


26 May 2016

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในสิงคโปร์



          การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ซึ่งช่วยลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากรัฐบาล โดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากจากประชาชนเพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าการฟ้องศาล
          การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่ใช่เรื่องใหม่ในสิงคโปร์ ในอดีตสิงคโปร์มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในแต่ละชุมชนมาแต่เดิม แต่ต่อมาอิทธิพลของการพัฒนาเป็นชุมชนเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ลดความสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่มีปริมาณการฟ้องคดีต่อศาลเพิ่มสูงขึ้น
          การไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาททางเลือกถูกนำมาใช้อีกครั้งในสิงคโปร์ช่วงทศวรรษที่ ๑๙๙๐ จากการแผ่ขยายแนวคิดตะวันตกเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งในปัจจุบันการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ในสิงคโปร์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
          ๑. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาล (Court-based mediation) เป็นการไกล่เกลี่ยภายหลังจากมีการฟ้องศาลแล้ว การไกล่เกลี่ยประเภทนี้มักดำเนินการโดยศาลชั้นต้น (The State Courts of Singapore)[๑]
          การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลมีขึ้นในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี ๑๙๙๔ โดยเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งโดยผู้พิพากษาศาลเขต (District Judges) ต่อมาในปี ๑๙๙๕ ก็มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาล (The Court Mediation Centre) ขึ้น และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ยุติข้อพิพาทเบื้องต้น (Primary Dispute Resolution Centre) ในปี ๑๙๙๘ ต่อมาในเดือนมีนาคม ๒๐๑๕ จึงพัฒนามาเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลชั้นต้น (State Courts Centre for Dispute Resolution) (๑.๑)
          นอกจากจะดำเนินการโดยศูนย์ยุติข้อพิพาทในศาลชั้นต้นแล้ว การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลยังดำเนินการโดยหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ แผนกระงับข้อพิพาททางครอบครัว (Family Resolutions Chambers) และศูนย์ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเด็ก (Child Focused Resolution Centre) ซึ่งทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทในคดีครอบครัว (๑.๒) นายทะเบียนศาลคดีมโนสาเร่ (Registrar at the Small Tribunal Court) ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีมโนสาเร่ (๑.๓) และ Magistrate[๒] ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีอาญาเล็กน้อย (Magistrates’ complaints) (๑.๔)
                   ๑.๑ ศูนย์ยุติข้อพิพาทของศาลชั้นต้น (State Courts Centre for Dispute Resolution)
                   ศูนย์ยุติข้อพิพาทของศาลชั้นต้นจัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๐๑๕ ตั้งขึ้นแทนที่ศูนย์ยุติข้อพิพาทเบื้องต้น (Primary Dispute Resolution Centre) ศูนย์ยุติข้อพิพาทในศาลชั้นต้นให้บริการการระงับข้อพิพาททางเลือก ได้แก่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการประเมินคดี (Neutral evaluation) ให้แก่คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น
                   ทั้งนี้ ก่อนจะมีการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น คดีที่เรียกร้องสิทธิทางแพ่งจะถูกส่งไปที่ศูนย์ยุติข้อพิพาทเบื้องต้น (Primary Dispute Resolution Centre) เพื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ส่วนคำร้องทุกข์ทางอาญาในความผิดเล็กน้อย[๓] (Magistrates’ Complaints) จะถูกส่งไปยังสำนักทะเบียนอาชญากรรมของศาลชั้นต้น (State Court Crime Registry) และคดีอาญาบางประเภทจะถูกส่งไปยังที่ประชุมเพื่อยุติข้อพิพาทในคดีอาญา (Criminal Case Resolution Conferences) ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ยุติข้อพิพาทของศาลชั้นต้นขึ้นจึงเป็นการรวบรวมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกของคดีที่อยู่ในศาลชั้นต้นไว้ด้วยกัน
                   ศูนย์ยุติข้อพิพาทของศาลชั้นต้นให้บริการระงับข้อพิพาททางเลือกสำหรับคดีแพ่ง คำร้องทุกข์ทางอาญาในความผิดเล็กน้อย (Magistrates’ Complaints) ที่ฟ้องร้องโดยปัจเจกบุคคล และข้อพิพาทเกี่ยวกับความสัมพันธ์ (คดีระหว่างเพื่อน ญาติ คนรัก เป็นต้น) ทั้งนี้ เฉพาะคดีที่อยู่ในศาลชั้นต้นเท่านั้นที่จะสามารถเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยศูนย์นี้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วศาลจะส่งคดีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคู่กรณีทุกฝ่ายแล้ว แต่ในคดีบางประเภท เช่น คดีร้องทุกข์ทางอาญาในความผิดเล็กน้อย ผู้พิพากษาสามารถบังคับให้คู่กรณีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกได้
                   สำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาทของศูนย์ยุติข้อพิพาทของศาลชั้นต้นนั้น ผู้ไกล่เกลี่ยจะทำหน้าที่ช่วยเหลือคู่กรณีในการพูดคุยประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะไม่ตัดสินว่าฝ่ายใดผิดหรือถูก กระบวนการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจะใช้เวลาสามชั่วโมงถึงครึ่งวันในการหาข้อยุติ โดยมีคู่กรณีทุกฝ่ายและทนายความของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมกระบวนการ ทั้งนี้ เมื่อสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้ต่อหน้าผู้พิพากษา
                   ปัจจุบัน ผู้ไกล่เกลี่ยของศูนย์ยุติข้อพิพาทในศาลชั้นต้นประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน ๗ คน และอาสาสมัครอีกกว่า ๑๐๐ คน โดยผู้ไกล่เกลี่ยทุกคนของศูนย์ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากทั้งในและนอกประเทศ และได้รับการรับรองจากศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสิงคโปร์ (Singapore Mediation Centre: SMC)
                   อย่างไรก็ดี แม้ในอดีตการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๐๑๕ เป็นต้นมา คดีแพ่งที่มีมูลค่าสูงจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
                   ๑.๒ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลครอบครัว (Family Justice Court)
                   ศาลครอบครัวให้บริการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและให้คำปรึกษาแก่คู่ความโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กระบวนการดังกล่าวนี้มีขึ้นในปี ๑๙๙๖ โดยมาตรา ๕๐ (๑)[๔] แห่ง Women’s Charter Act ให้ศาลโดยความยินยอมของคู่ความมีอำนาจส่งข้อพิพาทไปยังกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและให้คำปรึกษา (mediation and counseling)  ทั้งนี้ คู่พิพาทกรณีหย่าร้างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์จะถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา ๕๐ (๓A) – ๕๐ (๓E)) 
                   กระบวนการระงับข้อพิพาทในศาลครอบครัวดำเนินการโดยแผนกระงับข้อพิพาททางครอบครัว (Family Resolutions Chambers) ซึ่งจัดตั้งในปี ๒๐๐๖ เพื่อส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกระบวนการยุติธรรมทางครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเด็ก (Child Focused Resolution Centre) จัดตั้งขึ้นในปี ๒๐๑๑ เพื่อให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแก่พ่อแม่ที่กำลังจะหย่าร้างในการทำความตกลงเกี่ยวกับอำนาจในการปกครองบุตร
                   ผู้ไกล่เกลี่ยในศาลครอบครัวมักเป็นผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ของศาล ผู้ไกล่เกลี่ยอาสาหรือผู้ไกล่เกลี่ยจากศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแห่งสิงคโปร์ซึ่งโดยมักมักเป็นนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือผู้มีความรู้ด้านครอบครัวบำบัด (Family therapy)
                   ๑.๓ การไกล่เกลี่ยในศาลคดีมโนสาเร่ (Small Claims Tribunals)
                   ศาลคดีมโนสาเร่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๑๙๘๕ โดยพระราชบัญญัติศาลมโนสาเร่ ศาลดังกล่าวมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายสินค้าและบริการ คดีความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากมูลละเมิดที่ทีมูลค่าไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์
                   เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลมโนสาเร่ นายทะเบียนศาลคดีมโนสาเร่ (Registrar at the Small Tribunal Court) จะเชิญคู่ความเพื่อปรึกษาหารือและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หากไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้จึงจะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ตัดสิน (Referee) เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังพยานหลักฐานต่อไป[๕]
                   ๑.๔ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาเล็กน้อย (Magistrates’ complaints)
                   ตามมาตรา ๑๕๑[๖] ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา Magistrate มีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับคำร้องทุกข์นั้นเกี่ยวกับความผิดอาญาเล็กน้อย แต่หากข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล Magistrate อาจส่งคำร้องทุกข์นั้นไปยังศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชน (Community Mediation Centre) อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้สำเร็จและผู้ร้องทุกข์ต้องการดำเนินคดีก็จะมีการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางศาลต่อไป

          ๒. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยเอกชน (Private mediation) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประเภทนี้เป็นการดำเนินการโดย freelance mediators หรือโดยองค์กรวิชาชีพและองค์กรทางการค้าอื่นๆ เช่น
                  - ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแห่งสิงคโปร์ (Singapore Mediation Centre: SMC)
                  - ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ (Singapore International Mediation Centre: SIMC)
               - สถาบันระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการประกันภัย (Insurance Disputes Resolution Organisation : IDRO) ซึ่งตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ประกันภัยกับบริษัทประกันภัย
                 - หน่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Consumer Mediation Unit) ของสมาคมธนาคารในสิงคโปร์ (Association of Banks in Singapore: ABS) เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างลูกค้ากับธนาคารที่เป็นสมาชิกของสมาคม
                 - คณะกรรมการไกล่เกลี่ย (Mediation Board) ของสถาบันตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ (Institute of Estate Agents: IEA)
                   - แผนกคดีผู้บริโภค (Consumer Affairs Department) ของสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวในสิงคโปร์ (National Association of Travel Agents in Singapore: NATAS)
          ในบรรดาองค์กรทั้งหลายเหล่านี้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแห่งสิงคโปร์ (Singapore Mediation Centre : SMC) มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททุกประเภท รวมถึงข้อพิพาทที่มีมูลค่าสูงและสลับซับซ้อน จึงขอยกตัวอย่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ดังกล่าวไว้ในบทความนี้
ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแห่งสิงคโปร์ (Singapore Mediation Centre : SMC)
          ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแห่งสิงคโปร์ (SMC) ก่อตั้งขึ้นในปี ๑๙๙๗ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร
ที่ได้รับการรับรองโดย
Singapore Academy of Law[๗]
          SMC ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการระงับข้อพิพาทเชิงสมานฉันท์ โดยข้อมูล ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๐๑๔ มีข้อพิพาทมากกว่า ๒๕,๐๐๐ เรื่องถูกส่งมายัง SMC ร้อยละ ๗๕ ของข้อพิพาทดังกล่าวไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ ในบรรดาข้อพิพาทเหล่านั้น ร้อยละ ๙๐ ไกล่เกลี่ยได้สำเร็จภายในหนึ่งวันทำการเท่านั้น โดยผู้เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างให้การยอมรับว่ากระบวนการนี้ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาอีกด้วย ทั้งนี้ มูลค่าของข้อพิพาทที่ดำเนินการโดย SMC มากกว่า ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมูลค่ารวมมากกว่า ๓.๒ พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
          ๒.๑ ผู้ไกล่เกลี่ย
          ผู้ไกล่เกลี่ยของ SMC ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในวงงานต่างๆ เช่น สมาชิกรัฐสภา อดีตผู้พิพากษา สถาปนิก วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที นักจิตวิทยา อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ผู้ไกล่เกลี่ยเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมและประเมินผลอย่างเข้มงวดโดย SMC ก่อนที่จะถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยหลัก (Principal Mediators) ของ SMC ซึ่งในปัจจุบันแบ่งความเชี่ยวชาญออกเป็น ๑๐ สาขา ได้แก่ การเงินและการธนาคาร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน การก่อสร้างและวิศวกรรม พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกันภัย การขนส่งสินค้า ทรัสต์ พินัยกรรม และการพิสูจน์พินัยกรรม[๘]
          ในกรณีที่ข้อพิพาทต้องการความรู้เฉพาะด้าน SMC จะแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยสองคนเพื่อช่วยกันไกล่เกลี่ย คนแรกจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนั้นๆ ส่วนอีกคนจะเป็นนักกฎหมายที่คุ้นเคยกับประเด็นทางกฎหมาย
          ผู้ไกล่เกลี่ยของ SMC สามารถจัดการข้อพิพาทได้หลายภาษา ทั้งอังกฤษ ทมิฬ มาเลย์ แมนดาริน และภาษาจีนท้องถิ่นอื่นๆ โดย SMC จะพยายามเลือกผู้ไกล่เกลี่ยที่ใช้ภาษาเดียวกับคู่พิพาท เพื่อให้การไกล่เกลี่ยเป็นไปอย่างราบรื่น และหลีกเลี่ยงอุปสรรคอันเกิดจากการใช้ล่าม
          การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของผู้ไกล่เกลี่ยอยู่ภายใต้บังคับของประมวลจริยธรรมของ SMC ซึ่งกำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยต้องรักษาความลับ เป็นกลาง และเป็นธรรม
          ๒.๒ กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ SMC
          กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ SMC อาจริเริ่มโดยศาลส่งผ่านข้อพิพาทมายัง SMC หรือกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายส่งเรื่องมายัง SMC โดยตรง ทั้งนี้ หากเป็นการติดต่อโดยคู่กรณีแค่เพียงฝ่ายเดียว SMC จะต้องติดต่อไปยังคู่กรณีฝ่ายที่เหลือของคู่พิพาทเพื่อชักจูงใจให้เข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย
          ก่อนเริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย SMC จะอธิบายให้คู่กรณีเข้าใจกระบวนการคร่าวๆ ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ SMC เพื่อให้แน่ใจว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอแก่การตัดสินใจผูกพันต่อผลของการไกล่เกลี่ย โดยคู่กรณีทุกฝ่ายจะต้องลงนามในความตกลงไกล่เกลี่ยของ SMC (SMC’s Agreement to Meditate)
          ต่อมา SMC จะกำหนดวันและเวลาในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสะดวกของคู่กรณีซึ่งในกรณีทั่วไปคือหนึ่งสัปดาห์หลังได้รับเรื่อง หรือภายใน ๒๔ ชั่วโมงในกรณีเร่งด่วน โดยการจัดประชุมไกล่เกลี่ยจะมีขึ้นในสถานที่ของ SMC เพื่อประกันความเป็นกลางในการดำเนินการ
          จากนั้น SMC จะแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยที่เหมาะสมจากบัญชีรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยของ SMC ทั้งนี้ คู่กรณีสามารถปฏิเสธผู้ไกล่เกลี่ยที่เสนอโดย SMC ได้ หากมีเหตุผลที่เหมาะสม เช่น ผลประโยชน์ขัดกันของผู้ไกล่เกลี่ย เป็นต้น ในขณะเดียวกันทั้งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนข้อเสนอของแต่ละฝ่าย รวมถึงเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง
          ในวันไกล่เกลี่ย ผู้ไกล่เกลี่ยจะคอยแนะนำคู่กรณีในการหาข้อยุติร่วมกัน โดยทนายความของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ไกล่เกลี่ยและแนะนำคู่กรณีระหว่างการระงับข้อพิพาท
          เมื่อสามารถตกลงกันได้แล้วจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรและลงนามโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่าย
          ๒.๓ บริการของ SMC ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
          SMC ให้บริการในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในด้านต่างๆ เช่น
                ๒.๓.๑ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้า (Commercial mediation) SMC ให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการธนาคาร การก่อสร้าง การสุขภาพ การจ้างงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ การประกันภัย หุ้นส่วน การขนส่งสินค้าทางเรือ โดยค่าธรรมเนียมในการระงับข้อพิพาทของคู่กรณีแต่ละฝ่ายเริ่มต้นที่ ๙๖๓ ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน[๙] ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของข้อพิพาทด้วย
                 ๒.๓.๒ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าในข้อพิพาทเล็กน้อย (Small Case Commercial Mediation Scheme) SMC มีบริการช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าที่มีทุนทรัพย์ต่ำกว่า ๖๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยค่าธรรมเนียมในการไกล่เกลี่ยเริ่มต้นที่ ๘๐.๒๕ ดอลลาร์สิงคโปร์[๑๐]
                ๒.๓.๓ การประเมินข้อพิพาทเบื้องต้น (Neutral evaluation) เป็นการจัดให้นักกฎหมายที่เป็นกลาง (เช่น อดีตผู้พิพากษา นักกฎหมายอาวุโส) ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของคู่กรณีแต่ละฝ่าย เพื่อให้ข้อคิดเห็นกับคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้ คู่กรณีสามารถเลือกได้ว่าจะให้ประเมินแค่เอกสารหรือให้มีการรับฟังคำแถลงด้วยก็ได้
                    อนึ่ง การประเมินข้อพิพาทเบื้องต้นแตกต่างจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กล่าวคือ การประเมินข้อพิพาทเบื้องต้น คนกลาง (Neutral) สามารถให้ความคิดของตนเกี่ยวกับจุดแข็งจุดอ่อนของคู่กรณีแต่ละฝ่ายได้ แต่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) ไม่สามารถให้ความคิดเห็นส่วนตัว ตัดสินว่าฝ่ายใดผิดหรือถูก และไม่สามารถกำหนดทางออกให้ทั้งสองฝ่ายได้ เพราะผู้ไกล่เกลี่ยเป็นเพียงผู้ที่คอยช่วยเหลือให้คู่กรณีหาข้อยุติได้โดยการเจรจาต่อรองกันเอง
                    ๒.๓.๔ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับครอบครัว มีสองแบบ คือ
                             (๑) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางครอบครัว (Family/Matrimonial Mediation Scheme) SMC ได้พัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางครอบครัว เช่น อำนาจในการปกครองบุตร การจ่ายค่าเลี้ยงดูคู่สมรส การแบ่งสินสมรส เป็นต้น เพื่อช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ รวดเร็ว และประหยัดกว่าการฟ้องคดี
                             การไกล่เกลี่ยดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัวที่เป็นกลาง โดยมีค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ ๒๖๗ ดอลลาร์สิงคโปร์[๑๑]
                             (๒) Collaborative Family Practice (CFP) กระบวนการ CFP เป็นการให้นักกฎหมายเข้าช่วยเหลือคู่ความของตนในการหาข้อตกลงร่วมกันโดยไม่มีการแทรกแซงจากบุคคลที่สาม
                             นอกจากนี้ SMC ยังเปิดฝึกอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้แก่บุคคลทั่วไปและทำหน้าที่รับรองผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอีกด้วย

          ๓. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยหน่วยงานของรัฐ ตัวอย่างเช่น ศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน (Community Mediation Centres : CMC) การไกล่เกลี่ยคดีล้มละลายในสำนักงานล้มละลายและทรัสตีสังกัดกระทรวงกฎหมาย (Ministry of Law) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน (Community Mediation Centres : CMC)
ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชน (Community Mediation Centres: CMC)[๑๒]
          ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๑๙๙๗ โดยพระราชบัญญัติศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชน พ.ศ. ๑๙๙๗ (CommunityMediation Centres Act) เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมที่ให้บริการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีในสังคม โดยศูนย์จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างสมานฉันท์โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีความ
          ตั้งแต่ปี ๑๙๙๘ เป็นต้นมา มีข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไล่เกลี่ยของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชนประมาณ ๖,๐๐๐ คดี โดยศูนย์สามารถยุติข้อพิพาทได้ประมาณร้อยละ ๗๐ ของข้อพิพาททั้งหมด
          ข้อพิพาทจะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชนได้หลายช่องทาง ทั้งการยื่นคำขอโดยคู่กรณีเองผ่านสายด่วนหรือเว็บไซต์ของศูนย์ หรือการส่งเรื่องมาจากหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจ สภาท้องถิ่น ส.ส. เป็นต้น นอกจากนี้ Magistrate ยังสามารถส่งคำร้องทุกข์ในคดีอาญาเล็กน้อย (Magistrate complaints) มายังศูนย์ได้อีกด้วย
          เมื่อศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนได้รับคำร้องแล้ว ศูนย์ฯ จะประสานไปยังคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อขอความยินยอมในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เมื่อทุกฝ่ายให้ความยินยอมก็จะทำการนัดวันไกล่เกลี่ย
          ในวันไกล่เกลี่ย คู่กรณีทุกฝ่ายจะต้องลงนามในข้อตกลงการไกล่เกลี่ย (Agreement to mediate) ก่อนการไกล่เกลี่ยจะเริ่มต้นขึ้นโดยผู้ไกล่เกลี่ยจะแนะนำตัวเองและอธิบายกระบวนการทั้งหมด จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้คู่กรณีแต่ละฝ่ายชี้แจงประเด็นปัญหาของตน โดยผู้ไกล่เกลี่ยสามารถซักถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากคู่กรณีได้  ทั้งนี้ ผู้ไกล่เกลี่ยอาจรับฟังคำชี้แจงของแต่ละฝ่ายพร้อมๆ กันในห้องประชุมเดียวกันหรืออาจรับฟังแต่ละฝ่ายเป็นการส่วนตัวก็ได้
          หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ผู้ไกล่เกลี่ยจะบันทึกข้อตกลงร่วมกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายลงนาม โดยหากคดีดังกล่าวถูกส่งมาโดย Magistrate ข้อตกลงร่วมกันจะถูกส่งไปที่ศาลด้วย แต่หากคู่กรณีไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้คู่กรณีอาจเลือกระงับข้อพิพาทด้วยการฟ้องศาลก็ได้
          สำหรับผู้ไกล่เกลี่ยของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมการไกล่เกลี่ยจากศูนย์ฯ และผ่านการเป็นผู้ช่วยไกล่เกลี่ยอย่างน้อยสองคดี ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับแต่งตั้งเป็น
ผู้ไกล่เกลี่ยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมาย  ทั้งนี้ ในแต่ละปีศูนย์จะเปิดรับสมัครบุคคลจากสาขาวิชาต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรม โดยผู้มีสิทธิเข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีสัญชาติสิงคโปร์ อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี ใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับดีเยี่ยม เป็นต้น[๑๓]
         
Q&A
คำถามที่ ๑  ประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือไม่
          ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ยังไม่มีกฎหมายกลางเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทกระจายอยู่ในกฎหมายต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา Women’s Charter Act พระราชบัญญัติว่าด้วยศูนย์ระงับข้อพิพาทชุมชน เป็นต้น
          อย่างไรก็ดี คณะทำงานการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้า (International Commercial Mediation Working Group) ที่ตั้งขึ้นในปี ๒๐๑๓ โดยหัวหน้าศาลสูงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายได้เสนอให้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อเสริมสร้างกรอบการทำงานของโดยรวมของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในสิงคโปร์และให้ความมั่นใจแก่ผู้ที่เลือกใช้การไกล่เกลี่ยในการระงับข้อพิพาทในกรณีที่กฎหมายไม่ชัดเจน โดยในขณะนี้คณะทำงานฯ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน[๑๔]
          ร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประกอบด้วย ๑๗ มาตรา มีสาระสำคัญดังนี้
          - กำหนดบทนิยามการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ร่างมาตรา ๓) และนิยามข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ร่างมาตรา ๔)
          - กำหนดให้การแต่งตั้งผู้ให้บริการไกล่เกลี่ยและการรับรองกระบวนการไกล่เกลี่ยทำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมาย (ร่างมาตรา ๗)
          - กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรักษาความลับในกระบวนการไกล่เกลี่ย (ร่างมาตรา ๙)
          - กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงและเอกสารในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล (ร่างมาตรา ๑๐)
          - กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้รับฟังการไกล่เกลี่ยเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล และในการอนุญาโตตุลาการ (ร่างมาตรา ๑๑)
          - กำหนดให้สามารถยื่นบันทึกข้อตกลงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยต่อศาลเพื่อออกเป็นคำสั่งศาล
(ร่างมาตรา ๑๒)
คำถามที่ ๒  ผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในสิงคโปร์มีผลผูกพันหรือไม่ เพียงใด
          โดยทั่วไปข้อตกลงที่เกิดจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีผลผูกพันตามหลักกฎหมายว่าด้วยสัญญา
ยกเว้นในบางกรณีโดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยในชั้นศาล ข้อตกลงดังกล่าวมีผลเป็นคำพิพากษาตามยอม
          อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา ๑๒ ของร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้กำหนดไว้ให้คู่กรณีที่ได้ข้อตกลงร่วมกันในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถยื่นคำขอต่อศาลเพื่อร้องขอให้ศาลบันทึกข้อตกลงจากการไกล่เกลี่ยเป็นคำสั่งของศาล  ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ข้อตกลงจากการไกล่เกลี่ยมีผลบังคับใช้ได้จริง
          อนึ่ง ตามมาตรา ๑๐ ของร่างดังกล่าว เอกสารและข้อเท็จจริงทั้งหมดในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะไม่สามรถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล ในการอนุญาโตตุลาการ หรือการดำเนินการทางวินัยได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

คำถามที่ ๓  ผู้ไกล่เกลี่ยเป็นวิชาชีพหรือไม่ บุคคลทั่วไปสามารถไกล่เกลี่ยได้หรือไม่
          แม้ว่าในสิงคโปร์จะยังไม่มีองค์กรกลางในการขึ้นทะเบียนและฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ย แต่ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) ในสิงคโปร์จะต้องผ่านการอบรมและได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย
เช่น ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแห่งสิงคโปร์ (
SMC) ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชน (CMC)
ศาลชั้นต้น (State Court) เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามมิให้บุคคลทั่วไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาท



[๑] ระบบศาลในประเทศสิงคโปร์ประกอบด้วยศาลสองชั้น ได้แก่
(๑) ศาลชั้นต้น (The State Courts of Singapore) ซึ่งประกอบด้วยศาลแขวง (Magistrate Court) มีอำนาจพิจารณาความผิดที่มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน ๕ ปีหรือมีโทษปรับเท่านั้น และคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ ศาลเขต (District Court) มีอำนาจพิจารณาความผิดที่มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน ๑๐ ปีหรือมีโทษปรับเท่านั้น คดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๒๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ และศาลชำนัญพิเศษอื่น เช่น ศาลพาณิชย์ คดีแพ่ง และอาญา (The Commercial Civil and Criminal Court) ศาลไต่สวน ชันสูตรพลิกศพ (Coroner’s Court) และศาลจราจร (The Traffic Court) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีศาลสำหรับคดีความที่เรียกค่าเสียหายเล็กน้อย (Small Claims Tribunals) ศาลคดีครอบครัว (Family Court) และศาลคดีเยาวชน (Juvenile Court)
(๒) ศาลสูง (Supreme Court) รับพิจารณาคดีที่มีทุนทรัพย์ เกินกว่า ๒๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ ศาลสูงของสิงคโปร์แบ่งออกเป็น ชั้นศาล คือ ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) และศาลฎีกา (The High Court)
[๒] Magistrate หมายถึง บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาประจำศาล มีอำนาจพิจารณาคดีเล็กน้อย โดย Magistrate ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินคดีในศาล Magistrates’ Court
[๓] คดีความผิดที่มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน ๕ ปีหรือมีแต่โทษปรับเท่านั้น
[๔] Court may refer parties for mediation or to attend counseling
50.—(1) A court before which any proceedings under this Act (other than proceedings under section 104) are being heard may give consideration to the possibility of a harmonious resolution of the matter and for this purpose may, with the consent of the parties, refer the parties for mediation by such person as the parties may agree or, failing such agreement, as the court may appoint.
[๕] http://www.smallclaims.com.sg/small-tribunal-court
[๖] Examination of complaint
151.—(1)  Any person may make a complaint to a Magistrate.
(2)  On receiving a complaint by a person who is not a police officer nor an officer from a law enforcement agency nor a person acting with the authority of a public body, the Magistrate —
                (a) must immediately examine the complainant on oath and the substance of the examination must be reduced to writing and must be signed by the complainant and by the Magistrate; and
                (b) may, after examining the complainant —
                                (i) for the purpose of inquiring into the case himself, issue a summons to compel the attendance before him of any person who may be able to help him determine whether there is sufficient ground for proceeding with the complaint;
                                (ii) direct any police officer to make inquiries for the purpose of ascertaining the truth or falsehood of the complaint and report to the Magistrate the result of those inquiries;
                                (iii) proceed in accordance with section 15 of the Community Mediation Centres Act (Cap. 49A); or
                                (iv) postpone consideration of the matter to enable the complainant and the person complained against to try to resolve the complaint amicably.
[๗] Singapore Academy of Law เป็นหน่วยงานส่งเสริมการและพัฒนาอุตสาหกรรมทางกฎหมายของสิงคโปร์ มีหน้าที่พัฒนาวิชาชีพทางกฎหมาย การส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางในการระงับข้อพิพาท และการปรับปรุงประสิทธิภาพของการปฏิบัติตามกฎหมายผ่านเทคโนโลยี Singapore Academy of Law บริหารงานโดยสภา Senate (ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าผู้พิพากษา อัยการสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้นำสำคัญของสาขาต่างๆ ในวิชาชีพกฎหมาย) และโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากภาครัฐและเอกชนจำนวน ๑๗ คน
[๘] http://www.mediation.com.sg/expert-panels/principal-mediators-by-specialisation/
[๙] http://www.mediation.com.sg/assets/business-services/Annex-D-Fee-Schedule-Uploaded-to-website-on-30-September-2015.pdf
[๑๐] http://www.mediation.com.sg/assets/downloads/small-case-commercial-mediation-scheme/02-SCCMS-Fee-Schedule.pdf
[๑๑] http://www.mediation.com.sg/assets/business-services/MMS-Fee-Schedule.pdf
[๑๒] https://www.mlaw.gov.sg/content/cmc/en.html
[๑๓] https://www.mlaw.gov.sg/content/cmc/en/cmc-mediators/how-to-become-a-cmc-mediator.html
[๑๔]https://www.mlaw.gov.sg/content/minlaw/en/news/public-consultations/public-consultation-on-the-draft-mediation-bill.html